แม้บ้านเราจะมีคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กปน.) เข้ามาดูแลปัญหาในทุกๆด้าน ทั้งเรื่องการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มเถื่อน ปรับโครงสร้างการผลิต ตรวจสอบเช็กควบคุมสต๊อกไม่ให้น้ำมันปาล์มล้นตลาด

แต่จนแล้วจนรอด ไม่รู้ทำงานกันอีท่าไหน...ราคาปาล์มน้ำมันถึงได้ดิ่งเหวไม่หยุด ไม่รู้ว่าจะมี กปน.ไปทำไมให้เปลืองเงินเดือนและเบี้ยประชุม

เคยจำได้ว่า ตอน คสช.มาคืนความสุขใหม่ๆ มีคนเคยคุยไว้ ปาล์ม กก.ละ 5 บาท...มีแต่คุย ทำไม่เคยได้สักที ดีแต่นั่ง ฮ.ชงนม

สาเหตุที่ทำให้ปาล์มน้ำมันราคาตกมีหลายประการ ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น 4% แต่กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 4.5% ผลิตได้มากกว่าความต้องการ

ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปผู้นำเข้าปาล์มน้ำมันจากหลายประเทศรวมถึงไทย มีมติให้ควบคุมน้ำมันปาล์ม และยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตพลังงาน

ประการสำคัญคือ ปัญหาในเชิงโครงสร้าง...อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท แต่เกษตรกรในฐานะผู้ผลิตมีส่วนแบ่งแค่ 60,000 ล้านบาท หรือแค่ 30% ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ 70% กระจุกตัวอยู่ตามโรงสกัดไบโอดีเซลและพลังงานไฟฟ้า

เป็นบทสรุปที่ได้จากเวทีเสวนา “ปาล์มน้ำมันจากพืชเพื่อการบริโภค สู่พืชพลังงาน” เพื่อระดมความคิดเห็น แก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ จัดระดมความคิดเห็นโดย พรรคภูมิใจไทย เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอดได้ในวิกฤตินี้ จึงมีผู้เสนอให้ใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบเดียวกับอ้อยและน้ำตาลมาเป็นต้นแบบ ที่แทบไม่เคยเจอปัญหาเลย

เพราะอ้อยและน้ำตาลมีระบบ Profit Sharing หรือการแบ่งปันผลผลิต โดยแบ่งปันให้กับเกษตรกร 70% โรงงาน 30%

รูปแบบนี้ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้...เพราะมีคนทำมาแล้วที่ จ.กระบี่ เขาทำกันอย่างไรติดตามกันต่อพรุ่งนี้.

...

สะ–เล–เต