อีกหนึ่งอันซีนของจังหวัดชุมพร ที่มีมากว่า 30 ปี กับภาพเรือประมงถูกวางบนรถบรรทุกแล่นบนถนน ข้ามฟากจากทะเลอ่าวไทยไปฝั่งอันดามัน ภูมิปัญญาชาวบ้านไม่ต้องอ้อมมาเลเซีย ใน 1 ปีจะเห็น 2 ครั้ง...
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 นายณุกร ธารีรัตนาวิบูลย์ อายุ 48 ปี ชาวบ้าน หมู่ 3 ตำบลปากน้ำ อ.เมือง จ.ชุมพร ผู้ประกอบการเรือประมงและเจ้าของคานเรือสามารถวัฒนา อีกทั้งเป็นเจ้าของธุรกิจรับจ้างขนย้ายเรือข้ามฝั่งจากทะเลอ่าวไทยไปฝั่งอันดามัน ว่าการขนย้ายเรือข้ามฝั่งนั้นมีมานานกว่า 30 ปี ที่ทำสืบทอดมาจากรุ่นพ่อ สืบเนื่องจากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ของทุกปี เป็นฤดูปลาวางไข่ ทางกรมประมงได้ทำการปิดอ่าวห้ามทำประมงในพื้นที่ จ.ชุมพร และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฎร์ธานีบางส่วนเป็นเวลา 3 เดือน และช่วงปลายปีตั้งแต่เดือนตุลาคม-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือที่ชาวเรือเรียกว่า “ลมว่าว” ทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันตกไม่สามารถทำการประมงได้ จึงต้องแล่นออกเรืออ้อมปลายแหลมมาลายู เพื่อจะไปทำประมงในฝั่งอันดามัน ทำให้เสียเวลานานนับเดือนและอันตราย
...
เจ้าของธุรกิจรับจ้างขนย้ายเรือข้ามฝั่ง กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดแนวคิดขึ้นมาว่า เราจะทำอย่างไรที่จะขนย้ายเรือประมงข้ามฝั่งจากอ่าวไทยไปฝั่งอันดามันได้ โดยใช้เส้นทางบกจนคิดว่าจะต้องทำตัว “ตัวสาลี่” ที่มีความยาว แล้วใช้หัวลากรถสิบล้อลากขนย้ายเรือ ลักษณะเดียวกับรถบรรทุกเทรลเลอร์ โดยเริ่มต้นได้ซื้อแชสซีรถทัวร์ที่เป็นแบบ 6 ล้อ มีความยาวกว่า 12 เมตร มาดัดแปลงช่วงล่างใหม่ให้เป็น 10 ล้อ เพื่อรองรับเรือที่มีความหนักหลายตันได้ ขึ้นไม้ให้สูงคล้ายรางรถไฟแนบแชสซีเพื่อรองรับตัวเรือและส่วนกระดูกงูท้องเรือ ทำระบบบังคับเลี้ยวให้มีระยะพอดีกับหัวลากที่จะคอยลากจูงในการเดินทาง หลังจากนั้นก็เริ่มทดลองขนย้ายเรือประมงขนาดเล็กๆไปพร้อมพัฒนาไปเรื่อยๆ แบบผิดบ้างถูกบ้างปรับปรุงแก้ไขไปตามภูมิปัญญาบวกประสบการณ์ จนปัจจุบันเพิ่มระบบรับน้ำหนักเป็น 14 ล้อ สามารถขนย้ายลำใหญ่ได้อย่างสบาย
นายณุกร กล่าวอีกว่า สำหรับการขนย้ายเรือแต่ละลำนั้นต้องใช้ความชำนาญ มีความยากง่ายแตกต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ การขึ้นเรือนั้นจะมีพนักงานขับรถ 1 คน และลูกน้อง หรือเรียกว่า “คนน้ำ” ประจำรถ 1-2 คน ที่จะมีหน้าที่คอยนำร่องให้เรือแล่นขึ้นสาลี่ที่ถูกปล่อยจมอยู่ใต้น้ำ ให้เรือแล่นมาตรงกลางพอดี และเมื่อเรือขึ้นมาตรงสาลี่แล้ว คนน้ำก็จะดำน้ำดูอุปกรณ์ต่างๆ บริเวณใต้ท้องเรือ ซึ่งจะมีอุปกรณ์ 3 อย่าง คือ โซนาร์ ซาวน์เดอร์ และท่อขับน้ำในเรือ ที่ต้องระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระแทก ติดขัด และเกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ของเรือที่จะขนย้าย
นายณุกร กล่าวด้วยว่า จากการประสบความสำเร็จผ่านมาได้กว่า 30 ปี ของภูมิปัญญาของชาวประมงที่มีแนวคิดทำ “สาลี่” เพื่อขนย้ายเรือประมงข้ามฝั่งทำให้ชาวประมง สามารถลดค่าใช้จ่ายจากหลักแสนบาท ที่จะต้องแล่นเรือข้ามอ้อมไปทางแหลมมลายูในระยะไกลๆ และใช้เวลาหลายวันกว่าจะถึง มาเป็นขนย้ายทางบกที่มีระยะใกล้ จาก จ.ชุมพร ไปลงที่บริเวณแม่น้ำคอคอดกระ อ.กระบุรี จ.ระนอง มีระยะทางเพียงแค่เพียง 40 กิโลเมตรเท่านั้น เสียค่าใช้จ่ายเพียงหลักหมื่นบาทใช้เวลาเพียง 2-4 ชั่วโมง ก็สามารถลงแม่น้ำออกสู่ทะเลอันดามันไปทำประมงได้แล้ว จึงนับว่าการขนย้ายเรือประมงทางบกแบบนี้มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย และอาจเป็นที่เดียวในโลก ที่สามารถหาดูได้ที่ จ.ชุมพร จึงเป็นสีสันที่ทุกคนจะเห็นเรือประมงติดสัญญาณไฟแดงแล่นอยู่บนถนน ข้ามสะพาน คู่กับรถยนต์อีกด้วย.
...