“ชาวบ้านเรียกปลากระโดด ปลาบิน ตามลักษณะของปลา ทางราชการเรียกว่า ปลาตับเต่า เป็นปลาสองน้ำ เมื่อก่อนอยู่แถวทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง แต่มาที่เขื่อนบางลางได้ยังไงไม่มีใครรู้”
นายสว่าง ลิ่ววิวัฒน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 11 ตำบลแม่หวาด บ้านตาพะเยา อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เกริ่นนำ
บ้านตาพะเยา ชุมชนเหนือเขื่อนบางลางแหล่งน้ำขนาดใหญ่เต็มไปด้วยปลาและสัตว์น้ำจืดนานาชนิด ชาวบ้านมีรายได้เสริมจากการทำประมงพื้นบ้าน
“สองสามปีก่อน มีชาวบ้านนั่งเรือเห็นปลากระโดดอยู่ข้างๆ หลังจากนั้นก็เอาสวิงมาตักปลาไปทอดกิน รสชาติอร่อย จึงบอกต่อกันไป และเรียกชื่อตามลักษณะท่าทางว่า ปลากระโดด
ต่อมาชาวบ้านต่างออกจับปลากระโดด เพื่อนำมาแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว จนขายดีเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย” นายสว่างว่า
ปลาตับเต่า หรือชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า ปลากระโดด เป็นปลาน้ำจืดตัวเล็ก มีอยู่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ แต่เดิมไม่เป็นที่นิยม
กระทั่งกลุ่มแม่บ้านตาพะเยานำมาแปรรูปทำปลาแดดเดียว ทำให้ปลาชนิดนี้มีมูลค่าขึ้น
...
นางสาวอรพิณ พรหมศักดิ์ ประธานกลุ่มโครงการแปรรูปปลาตับเต่าหรือปลากระโดด บอกย้ำ
ความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำเขื่อนบางลาง ทำให้ชาวบ้านจับปลาได้ตลอดปี และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าของชุมชน มีออเดอร์สินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนบางช่วงผลิตไม่ทันความต้องการ
อรพิณบอกว่า การจับปลากระโดด เริ่มเวลาพลบค่ำ ชาวบ้านนำเรือออกไป ปลาจะชอบเล่นไฟ อุปกรณ์มีสวิง หรือตาข่ายดัก ที่ชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้นเองตามภูมิปัญญา
วิธีการนำตาข่ายมาผูกกับตะแกรงสี่เหลี่ยมประกอบเข้ากับแคมเรือทั้งสองข้างเรี่ยไปกับท้องน้ำ
เมื่อเรือเริ่มแล่นก็ส่องไฟฉายให้แสงสว่างบริเวณปากตาข่ายปลาก็จะกระโดดเข้ามา แต่ละคืนชาวบ้านสามารถจับปลาได้ 5-10 กิโลกรัม เมื่อนำมารวมกัน เฉลี่ยคืนละ 80-100 กิโลกรัม
วิธีทำปลากระโดดแดดเดียว หักปากส่วนที่ยาวออก ขอดเกล็ด ผ่าท้อง ต้องทำทีละตัว แล้วล้างทำความสะอาด แช่น้ำเกลือ ตากแดด ขายกิโลกรัมละ 250-300 บาท แบ่งบรรจุถุงขาย ถุงละ 50 บาท
อรพิณบอกว่า แต่การจับปลากระโดดเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา เริ่มจากการตักด้วยสวิงแต่ตักได้น้อย ก็คิดค้นวิธีโดยการใช้เรือลาก และทำสวิงให้ใหญ่ขึ้น แต่ก็มีปัญหาตรงที่ใช้สวิงลาก ช่วงเดือนสว่าง พระจันทร์เต็มดวงปลาจะไม่เข้าสวิง
อีกอย่างปลาตัวเล็กตัวน้อยก็ติดมาด้วย
จึงคิดหาวิธีใช้ตาข่ายดักจับขนาด 1.5–1.7 เซนติเมตร ตัวเล็กก็จะไม่ติด ตัวที่โตเกินขนาดก็จะหลุดไป เวลาจับก็จะได้ขนาดเดียวกัน การจับปลาวิธีนี้ 3 ปี ปลากระโดดก็ยังมีวางไข่ได้เรื่อยๆ
ตอนนี้ได้รวมกลุ่มกันจดทะเบียนโอทอป สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอธารโตได้ทำสติกเกอร์มาให้
...
นายสว่าง ผู้ใหญ่บ้าน บอกว่า ล่าสุด ชุมชนได้รับการสนับสนุนตู้อบขนาดใหญ่จากโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการแปรรูปสินค้าเพิ่มขึ้น
สินค้าขายดีคือ ปลาส้มเหนือเขื่อน ที่ใช้ปลาโสด หรือปลากระสูบสดจากเขื่อนบางลางมาแปรรูป ทำให้รสชาติอร่อย เช่นเดียวกับปลาตับเต่าหรือปลากระโดดที่มีมากในแหล่งน้ำธรรมดา เมื่อนำมาแปรรูปก็ให้รสชาติที่ดีมากเช่นกัน
สินค้าชุมชนบ้านตาพะเยา นอกจากวางจำหน่ายตามแผงร้านค้าชุมชน ที่อยู่เลียบเส้นทางสาย 410 ยะลา-เบตง (สายล่าง) แล้วยังมีลูกค้าจากนอกพื้นที่ที่ติดใจรสชาติโทรศัพท์มาสั่งออเดอร์จนผลิตกันไม่ทัน
...
ชาวบ้านกำลังได้อาชีพใหม่ รายได้มั่นคง แต่ก็มีเหตุให้ต้องวิตกกังวล จากข่าวว่าประมงจังหวัดจะไม่ให้ชาวบ้านหาปลาเนื่องจากผิดกฎหมาย
หากประมงลงมาสำรวจจริงๆแล้ว การหาปลากระโดดไม่ได้ทำให้ปลาสูญพันธุ์ เพราะตัวโตและตัวเล็กจะไม่ติดตาข่าย ถ้าห้ามชาวบ้านหาปลาแล้วจะหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไร
“ปลาตัวนี้เป็นศัตรูกับปลาตัวอื่น เพราะกินปลาตัวเล็ก” อรพิณว่า “ประมงไม่น่าจะห้ามจับ และปลากระโดดเองก็ขยายพันธุ์ทั้งปี เพราะเราจับได้ทั้งปี อยากให้ประมงมาศึกษาก่อน”
ชาวบ้านคิดว่า จะรวมกลุ่มศึกษาหาข้อมูล เพื่อเป็นข้อโต้แย้งกับประมงที่จะห้ามการจับ ซึ่งประมงได้แจ้งมาแล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน
อรพิณบอกว่า นอกจากนี้ ชุมชนบ้านตาพะเยายังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่สนใจเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงลงเรือจับปลากระโดด เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนอีกทางหนึ่ง
นายปรารมภ์ สลำเส้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประธานชมรมการท่องเที่ยวเขื่อนบางลางและป่าฮาลาบาลา บอกว่า ด้วยความผูกพันระหว่างไทยพุทธและมุสลิมที่พึ่งพากัน จึงรวมตัวทำการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่นี่มีแพ สำหรับบริการนักท่องเที่ยวอยู่ในเขื่อน 14 ลำ มีเรือเล็ก เรือใหญ่ 4-5 ลำ และมีสปีดโบ๊ตที่ผู้ว่าฯให้ไว้อีกหนึ่งลำ
...
“ขอให้มั่นใจในเรื่องความปลอดภัย ชุมชนตาพะเยาไม่เคยเกิดเหตุการณ์” นายปรารมภ์ว่า “เส้นทางที่จะไปป่าฮาลาบาลาก็ไม่เคยเกิดเหตุการณ์ สามารถท่องเที่ยวได้ตามฤดูกาล”
กิจกรรมท่องเที่ยว นั่งเรือเช้าไปเย็นกลับ เรือจุไม่เกิน 15 คน คิดเหมาจ่าย 3,500 บาท เรือลำเล็กไม่เกิน 8 คน ราคา 2,500 บาท อาหารบุฟเฟต์ หัวละ 150 บาท มีแกงส้ม ปลากระโดดทอด ไข่เจียว ผัดผัก น้ำพริก ถ้าค้างคืนคิดหัวละ 1,400 บาท มีอาหารสามมื้อ รวมค่าที่พัก ค่าเรือ ค่ารถ ค่าไกด์ชุมชน
นายปรารมภ์บอกว่า ช่วงน้ำมาก เราจะไปดูความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติป่าฮาลาบาลา ช่วงน้ำลดไปชมกระทิง ช่วงกุมภาพันธ์ไปชมใบไม้เปลี่ยนสี ช่วงกันยายนไปดูนกเงือก มีน้ำตกสองสามที่คือ หนึ่งน้ำตกฮาละซะห์ หมู่บ้านจุฬาภรณ์เก้า สองน้ำตกจุฬาภรณ์เจ็ด
มีสะพานแขวน มีฐาน ตชด. มีต้นไม้ใหญ่หลายคนโอบ มีพิพิธภัณฑ์ของ ผู้พัฒนาชาติไทย ที่พักมี 2 แห่งคือ ที่จุฬาภรณ์เจ็ดของป่าไม้ คิดค่าบริการหัวละ 100 บาท และที่จุฬาภรณ์เก้า เป็นของชุมชน ราคาห้องละ 350 และ 450 บาท
ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งคือ เกาะทวด ใช้เวลานั่งเรือแค่ 15 นาที
เกาะทวด หรือทวดเป็นความเชื่อของชาวบ้านลุ่มน้ำฮาลาบาลา มีพิธีกรรมปีละ 1 ครั้งในการไหว้ทวด คนแถวนี้นับถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และยังมีพี่น้องชาวมาเลเซียเข้ามาร่วมด้วย
บางคนมาขอเรื่องโชคลาภแล้วได้อย่างที่ปรารถนาก็มากราบไหว้ จึงทำสืบเนื่องกันมา
นายปรารมภ์บอกว่า ประวัติของเกาะทวดไม่ค่อยรู้ชัด เพราะมีการเล่าต่อกันมา ไม่ได้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าเล่าไปอาจไปเบี่ยงเบน
อรพิณ พรหมศักดิ์ ประธานกลุ่มปลากระโดด พอรู้ประวัติเกาะทวดจากการสอบถามจากผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่มาบ้าง อาสาเล่า
ช่วงสงครามโลก มีทหารแต่ไม่รู้ว่าประเทศไหน เข้าไปปล้นสะดมชาวบ้าน ชาวบ้านรู้ต่างรวมตัวกันอธิษฐาน เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง พอถึงวันที่ทหารจะเข้าไปปล้น ก็เกิดปรากฏการณ์งูใหญ่เลื้อยมาขวาง ทำให้ทหารถอยร่น
ตั้งแต่วันนั้น กลายเป็นความเชื่อของชาวบ้านว่าทวดมาปกป้องคุ้มครอง ถือเป็นความศักดิ์สิทธิ์ของเกาะทวด ที่ชาวบ้านตาพะเยา และเพื่อนบ้านใกล้เคียงให้ความเคารพจนถึงทุกวันนี้.