สมาคมอนุรักษ์วัฒนธรรมสักยันต์ไทย ดันสักยันต์ไทย โกอินเตอร์ เผยตอนนี้ดังไกลไปทั่วทั้งเอเชีย ยุโรป ค่าสักแพงที่สุดในโลก อาจารย์ดังได้ภาพละ 3 แสนบาท

วันที่ 15 มี.ค. นายณัฐพงศ์ เพ็ชรธนู หรืออาจารย์หนึ่ง เจ้าของสำนักฯ ใน อ.สะเดา จ.สงขลา ที่รู้จักกันดีในหมู่ศิลปินนักร้องและสาวโคโยตี้ที่เดินทางไปขุดทองที่ประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ เปิดเผยว่า ได้เดินทางไปร่วมประชุมสัมมนาและลงนาม MOU เรื่องยกระดับวัฒนธรรมการสักยันต์สู่สากล สักยันต์ไทยสู่สักยันต์โลก ที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งจัดโดยสมาคมอนุรักษ์สักยันต์ไทย มีเจ้าของสำนักสักยันต์เข้าร่วม 58 คน จากร้านสักกว่า 450 แห่งทั่วประเทศ

"สมาคมฯ ได้จัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์เดียวคือ ยกระดับวงการสักยันต์ไทยให้รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยและชาวต่างชาติก็ดี ได้รู้จักธรรมเนียมในการสักยันต์ อักขระโบราณ (ขอมไทย) แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นของครูบาอาจารย์และประสบการณ์ของแต่ละท่านครูบาอาจารย์หลายๆ ท่าน และหลายๆ สำนักสักยันต์ ภายใต้กฎระเบียบที่มีมาตรฐานรองรับและจรรยาบรรณ"

...

อาจารย์หนึ่ง กล่าวอีกว่า การร่วมมือ (MOU) เจ้าสำนักสักยันต์ทุกสำนัก เพื่อยกระดับการสักยันต์สู่สากล ยกระดับการสักยันต์สู่สถาบันวิชาชีพ ศาสนากับวัฒนธรรมการสักยันต์ มาตรฐานสาธารณสุขสำนักสักยันต์ ทุนทางวัฒนธรรมสู่เศรษฐกิจสร้างมูลค่าสูง และยกระดับสู่กระบวนการเรียนรู้ระดับสากล

ทั้งนี้ "สักยันต์ไทย" มีมูลค่าการตลาดสูง สามารถทำเงินเข้าประเทศได้ปีละนับ 100 ล้านบาท และกำลังได้รับความนิยมในแถบเอเชียนประเทศจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี มาเก๊า อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงฝั่งยุโรป เยอรมนี เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฝรั่งเศส สวิสฯและอิตาลี 

นายณัฐพงศ์ กล่าวอีกว่า ศิลปะสักยันต์ไทยมีมูลค่าสูง เริ่มตั้งแต่ภาพละ 2-6 หมื่นบาท อาจารย์บางรายที่มีชื่อเสียง มีราคาถึงภาพละ 3 แสนบาท แต่วัฒนธรรมการสักยันต์ไทยเริ่มหายไปเพราะกฎเกณฑ์และการถูกมองข้ามของคนรุ่นหลัง ถูกศิลปวัฒนธรรมทางตะวันตกเข้ามามีบทบาทแทน คือการสักลาย (แทททู) ซึ่งคนยุคปัจจุบันมองว่าสวยงาม แต่การสักยันต์กลับถูกมองว่าป่าเถื่อน ขี้คุก ทั้งๆ ที่การสักยันต์ไทย จะมีกฎข้อห้ามต่างๆ มากมาย จึงต้องช่วยกันรักษาไว้เป็นภูมิปัญญา วัฒนธรรมที่ดีงาม.