กรมประมง ยึดชุมพรเป็นต้นแบบ สั่งเร่งกำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์ ‘ปลาหมอคางดำ’ ที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว เป็นภัยต่อสัตว์น้ำวัยอ่อน วอนปีใหม่ปีนี้ใครทำบุญปล่อยปลาหน้าวัด ให้คำนึงถึงผลร้ายที่จะตามมากับสัตว์น้ำประจำถิ่น...
เวลา 09.30 น. วันที่ 28 ธ.ค. 60 ที่ชมรมอนุรักษ์กุ้งก้ามกราม อ.สวี จ.ชุมพร นายสิทธิสาร ศรีชุมพวง ประมงจังหวัดชุมพร ดร.สง่า ลีสง่า ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ นายนพดล จินดาพันธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เขต 5 สุราษฎร์ธานี ร่วมกับสมาชิกชมอนุรักษ์กุ้งก้ามกราม อ.สวี นำอวนพร้อมเรือหางยาว จำนวน 47 ลำ ออกกำจัด และกวาดล้างปลาหมอคางดำ ที่ระบาดหนักในแม่น้ำสวีหนุ่ม
นายสิทธิสาร ศรีชุมพวง ประมงจังหวัดชุมพร กล่าวว่าการแพร่ระบาดของเอเลี่ยนสปีชีส์ปลาหมอคางดำ ขณะนี้ ในส่วนของกรมประมง ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงได้มีนโยบายที่ชัดเจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกรมประมง ร่วมมือกันศึกษา และสำรวจวงจรชีวิต รวมทั้งการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำเพื่อหาวิธีกำจัดโดยเร็วที่สุด อย่างแรกที่ทำไปคือการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว และใช้เครื่องมือประมง เช่น อวน แห ลอบ ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ โดยในแม่น้ำสวีหนุ่ม ของ อ.สวี มีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมากที่สุดในขณะนี้
...
"ทางประมงจังหวัดชุมพรจึงร่วมกับ นายเลิศ วชิรศิริ ประธานชมรมอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามอำเภอสวี นำสมาชิกพร้อมอวน และเรือหางยาว จำนวน 47 ลำ ออกกำจัดปลาหมอคางดำตั้งแต่ตอนเที่ยงคืนของเมื่อคืนที่ผ่านมา ผลการกำจัดในวันนี้ได้ปลาหมอคางดำเป็นวัยที่กำลังแพร่พันธุ์ จำนวน 1,360 ตัว น้ำหนัก 142 กิโลกรัม ถือเป็นผลงานที่น่าพอใจ และเตรียมเสนอให้ชมรมอนุรักษ์กุ้งก้ามกรามอำเภอสวี เป็นต้นแบบของการกำจัดปลาหมอคางดำด้วยจิตอาสาอย่างแท้จริง"
ด้าน ดร.สง่า ลีสง่า ผอ.ศูนย์วิจัยฯ กล่าวว่า ปลาหมอคางดำ เริ่มแพร่ระบาดครั้งแรกที่ จ.สมุทรสงคราม และรอยต่อ จ.เพชรบุรี ขณะนี้ทางกรมประมงได้สั่งการให้ทางศูนย์วิจัยฯ เร่งสำรวจ และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านทราบถึงผลกระทบกับสัตว์น้ำประจำถิ่น เนื่องจากปลาหมอคางดำแพร่ระบาดรวดเร็ว เป็นศัตรูตัวฉกาจของสัตว์น้ำวัยอ่อน ถึงแม้จะกำจัดไม่หมด แต่ลดปริมาณพ่อแม่พันธุ์ของปลาหมอคางดำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในส่วนของ จ.ชุมพร จะยึด อ.สวี เป็นต้นแบบ และจะกระจายให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด
ขณะที่ นายนพดล จินดาพันธ์ ผอ.ศูนย์วิจัยฯ เขต 5 สุราษฎร์ธานี กล่าวว่าการกำจัดปลาหมอคางดำในวันนี้ ทางศูนย์วิจัยฯ ได้สนับสนุนอวนดักปลา จำนวน 47 ปาก เพื่อเก็บข้อมูลว่าขณะนี้ในแม่น้ำสวี มีการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำไปมากน้อยขนาดไหน แล้วนำข้อมูลนี้ไปกำหนดมาตรการการกำจัดปลาหมอคางดำในพื้นที่อื่นต่อไป.