ทีมสัตวแพทย์ผ่าซากพะยูน ถูกตัดหัว แล่เนื้อ เลาะกระดูก พบเป็นเพศเมีย คาดล่าโดยไม่เจตนา อาจเสียชีวิตก่อนแล้ว ด้านเจ้าหน้าที่ ปัดจัดฉาก ซัดพูดลอยๆไร้เหตุผล ส่วนกำนันเกาะลิบง รับตกใจ ย้ำชาวบ้านหวงแหนพะยูนมาก...
เมื่อช่วงค่ำ วันที่ 23 ต.ค. เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต นำโดยน.ส.ชวัญญา เจียกวธัญญู ทีมสัตวแพทย์พร้อมด้วยเจ้าหน้าสำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 7 จังหวัดตรัง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ได้เข้าร่วมผ่าตรวจพิสูจน์ซากพะยูนถูกตัดหัว แล่เนื้อ และเลาะกระดูก ถูกมัดกับต้นไม้ในป่าโกงกาง บนเกาะลิบง จ.ตรัง
นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เผยว่า ทีมสัตวแพทย์ระบุว่าพะยูนตัวนี้เป็นเพศเมีย เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นการล่าเอาพะยูนโดยไม่เจตนา ซึ่งพะยูนได้เสียชีวิตมาแล้วไม่น้อยกว่า 2-3 วัน คาดว่าผู้พบซากพะยูนที่เสียชีวิต ได้นำเอาชิ้นส่วนที่มีราคาในตลาดมืด เช่น กระดูก เขี้ยว ไปขาย จึงมองว่าเป็นการล่าโดยไม่เจตนา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังสืบหาผู้กระทำผิด โดยลงพื้นที่เก็บหลักฐานต่างๆ อาทิเชือกที่ใช้มัดพะยูน อย่างไรก็ตามทางทีมสัตวแพทย์ จะเอาชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อีกครั้งว่าเสียชีวิตโดยฉับพลันหรือไม่ เสียชีวิตมากี่วัน และด้วยสาเหตุใด
...
ส่วนกระแสข่าวว่าเจ้าหน้าที่จัดฉากนั้น ขอย้ำว่าไม่มีเรื่องที่จะต้องจัดฉาก เป็นการพูดลอยๆไม่มีเหตุผล เจ้าหน้าที่ทำงานมาเกือบ 7 ปี ดูแลพะยูนในจ.ตรัง ตั้งแต่ตนมาอยู่เมื่อปี 2554 มีพะยูน 120-130 ตัว โดยเฉพาะเกาะลิบง พะยูนมีสถิติเพิ่มขึ้น จนปี 2559 ได้มีการบินสำรวจพบพะยูน 169-170 ตัว ซึ่งพยายามดูแลเป็นอย่างดี และออกตรวจลาดตระเวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวหญ้าทะเลหาดต่างๆ ซึ่งมีเรือมาวางอวนหาปลาทู โอกาสที่พะยูนจะติดอวนมีจำนวนมาก ซึ่งต้องดูแลอย่างเข้มข้น มีมาตรการประกาศให้เขตหญ้าทะเลเป็นเขตพะยูน
“พะยูนมีโอกาสที่จะตายได้ตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าจะตายเพราะหลังจากมีเรื่องดังขึ้นมา แม้แต่วันนี้ก็มีโอกาสเพราะเมื่อใดที่มีเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ที่เป็นอันตราย เช่น เบ็ดราไว อวนปลากระเบน พะยูนก็มีโอกาสตายได้ทุกเวลา”
ขณะที่นายอับดุลรอหีม ขุนรักษา กำนัน ต.เกาะลิบง อ.กันตัง กล่าวว่า ตอนแรกที่เจอซากพะยูนดังกล่าวก็มีความรู้สึกตกใจ แต่พอตอนค่ำได้มีการหารือระหว่างชุมชน ผู้นำ ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะว่าหลายสิบปีไม่เคยได้เห็นสภาพอย่างนี้ แต่มาวันนี้เราได้เห็นสภาพอย่างนี้ ก็ตกใจกันทั้งเกาะ แต่จริงๆแล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ยังหวงแหนยังอนุรักษ์เหมือนเดิม เพราะชุมชนเองก็ให้ความช่วยเหลือมาโดยตลอดไม่ว่าชุมชนชายฝั่งต่างๆ สภาพเรือหรืออวนผิดประเภท ก็ได้แจ้งให้ผู้นำได้รับรู้ และแจ้งต่อไปยังกรรมการหมู่บ้าน รวมถึงเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯ ได้ออกลาดตระเวนดู จนมาเกิดเรื่องในวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่แน่ใจเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่
“กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ซากพะยูนตัวนี้เป็นซากแรกที่ได้เจอในสภาพอย่างนี้ เราไม่เคยเจอในสภาพอย่างนี้ เพราะส่วนใหญ่ที่แจ้งเข้ามาเป็นซากที่สมบูรณ์ ไม่ถูกทำลาย และหลังจากนี้ได้ประชุมกับชาวบ้านที่พบเห็นเป็นรายแรกร่วมกับชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง ว่ามีเหตุการณ์อะไรผิดปกติ ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่ายร่วมหารือในการอนุรักษ์พะยูนมาตลอด เพราะเราได้รับประโยชน์โดยทางอ้อมจากการมีพะยูนไม่ว่าด้านการท่องเที่ยว หรือด้านชุมชนที่รักหวงแหนในการอนุรักษ์ธรรมชาติ มีการวางทุ่นเป็นพื้นที่ไข่แดงเพื่ออนุรักษ์พะยูนในเขตหญ้าทะเล ที่สำคัญพะยูนเปรียบเสมือนหม้อข้าวของชาวเกาะลิบง ส่งผลดีต่อธุรกิจภาคการท่องเที่ยว” นายอับดุลรอหีม กล่าว