เจ้าโทน เต่าตนุตัวเดียวที่รอดจากไข่ 87 ฟอง แม่เต่าคลานขึ้นวางไข่บนเกาะราชาใหญ่ ก่อนย้ายหลุมไปเพาะฟักในที่ใหม่ ปรากฏว่ามีลูกเต่าคลานโผล่ทรายออกมาเพียงตัวเดียว ศูนย์วิจัยฯ เร่งหาสาเหตุ ชี้มีปัจจัยหลายอย่าง บางแห่งอัตราการฟักเป็น 0...

จากกรณี เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้ใช้ชื่อว่า Seaman Freeman หรือนายครรชิต คลิ้งขลิบ ผู้ประกอบการดำน้ำบนเกาะราชา ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้โพสต์ภาพและคลิปลงในกลุ่มไลน์ชมรม HEALTY REEFS ซึ่งเป็นกลุ่มไลน์ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและกลุ่มอนุรักษ์ในอันดามัน โดยในภาพและคลิปที่โพสต์เป็นภาพร่องรอยของเต่าทะเลไม่ทราบชนิดบนชายหาดเกาะราชาใหญ่ ซึ่งผู้โพสต์ระบุว่าร่องรอยดังกล่าวน่าจะเป็นร่องรอยของเต่าขึ้นมาวางไข่ เบื้องต้นได้มีการนำเชือกมาขึงกันไว้บริเวณจุดริมกำแพงหิน ซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมขนาดใหญ่ที่มีรอยกลบปากหลุมไว้ พร้อมแจ้งให้เจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยอันดามัน ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ร่วมตรวจสอบ 

...

จากการวัดขนาดของร่องรอยดังกล่าวพบว่า มีความยาวทางขึ้น 26 เมตร ความยาวทางลง 15 เมตร ซึ่งขอบในกว้าง 50 ซม. ขอบนอก 90 ซม. โดยนายครรชิตกล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่เกาะราชามีเต่าขึ้นมาวางไข่ หลังจากที่ผ่านมาเป็นเวลานับ 10 ปีที่ทำงานอยู่ที่นี่ ไม่เคยพบเห็นว่ามีเต่าขึ้นมาวางไข่อีกเลย จากนั้นวันที่ 15 ก.ค. เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนทะเล สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 หรือ สบทช.6 ชมรมอนุรักษ์และป้องกันตนเองเกาะราชาใหญ่ รวมถึงพนักงานของโรงแรมเดอะราชาได้สำรวจหลุมทรายที่ซึ่งมีไข่เต่าจำนวน 94 ฟอง ก่อนทยอยนำขึ้นใส่ในภาชนะเคลื่อนย้ายไปยังจุดปลอดภัย เพื่อรอให้มีการฟักไข่ โดยระหว่างขุดพบนั้นมีไข่เต่าแตกจำนวน 7 ฟอง ทำให้คงเหลือไข่ทั้งสิ้น 87 ฟอง

ต่อมา เมื่อวันที่ 8 ก.ย. กลุ่มไลน์ชมรม HEALTY REEFS ผู้ใช้ชื่อ Nattawut และ Thanya chit-aree เจ้าหน้าที่สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 หรือ สบทช.6 และผู้ประกอบการโรงแรมบนเกาะราชา ได้โพสต์ภาพและคลิปลูกเต่าพร้อมระบุว่า เป็นตัวแรกที่เพิ่งออกจากไข่ โดยโผล่ขึ้นจากทรายเมื่อเวลาประมาณ 02.00 น.ที่ผ่านมา เบื้องต้นมีลักษณะใกล้เคียงกับเต่าตนุ โดยนับจากวันที่พบไข่เต่าจนถึงวันที่ออกจากไข่ใช้เวลารวม 57 วัน อย่างไรก็ตามได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันรับลูกเต่าไปอนุบาลในบ่อเลี้ยง ก่อนนำปล่อยลงสู่ทะเลตามธรรมชาติต่อไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ผู้ใช้ชื่อว่า Seaman Freeman โพสต์ภาพไข่เต่าจำนวนมากที่เริ่มเน่า ไม่ได้มีการฟัก พร้อมระบุว่า

"ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันรายงานผลว่า ไข่เต่าตนุจากเกาะราชาใหญ่ จากการแกะไข่เต่าทั้งหมดที่ไม่มีการเพาะฟักเป็นตัว ไข่ทั้งหมดได้รับการผสมและมีการพัฒนามาได้ระยะหนึ่ง ซึ่งพบไข่เต่าตนุ 2 ฟองที่มีจุดสีแดงนั้น แสดงให้เห็นว่าไข่เต่าตนุได้มีการพัฒนาระบบเลือด ซึ่งใช้เวลาประมาณ 10 วัน ส่วนไข่เต่าตนุที่เหลือ หยุดการพัฒนาก่อน 10 วัน จากข้อสันนิษฐานอาจจะมีด้วยกันหลายปัจจัย เช่น ความชื้น อุณหภูมิ การย้าย จุลินทรีย์ในทราย จากกรณีไข่เต่าทะเลมีอัตราการฟักต่ำ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกที่ ตัวอย่างเช่น แหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญในฝั่งทะเลอันดามัน ที่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา ในปี 2552 จำนวน 5 รัง มีอัตราการฟัก 0 เปอร์เซ็นต์ เกาะพระทอง จ.พังงา ในปี 2558 จำนวน 3 รัง มีอัตราการฟัก 0 เปอร์เซ็นต์ เกาะสิมิลัน จ.กระบี่ ในปี 2558 จำนวน 29 รัง มีอัตราการฟัก 0 เปอร์เซ็นต์ ส่วนฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ เกาะคราม จ.ชลบุรี ปี 2559 จำนวน 137 รัง มีอัตราการฟัก 0 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าเกิดจากปัจจัยหลักมาจากสาเหตุใด แต่ที่แน่ๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ถ้าความชื้นในทรายน้อยเกินไป ทำให้อุณหภูมิในหลุมเพาะฟักสูง ไข่จะหยุดการพัฒนาได้ อุณหภูมิสูงเกิน 35 องศาเซลเซียส ทำให้ไข่เต่าหยุดการพัฒนา หรือช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกชุกมากเกินไป ทำให้ความชื้นในหลุมเต่ามาก อุณหภูมิในการเพาะฟักต่ำ อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส ทำให้ไข่เต่าหยุดการพัฒนา (Musick and lutz, 1996) ส่วนสาเหตุจากการเคลื่อนย้ายไข่เต่าตนุครั้งนี้ เนื่องจากสภาพชายหาดในธรรมชาติไม่เหมาะสม เพราะชายหาดมีกำแพงแนวกันคลื่นปิดกัน ดังนั้นทำให้ต้องย้ายไข่เต่าทั้งหมดมาเพาะฟักในพื้นที่ที่ไม่ถูกน้ำทะเลท่วมถึง และมีเจ้าหน้าที่ลูแลได้ทั่วถึง"

...

ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมทราบว่า จากไข่เต่าทั้งหมด 87 ฟองที่พบและนำมาฟักนั้น มีลูกเต่าที่ฟักออกจากไข่เพียง 1 ตัว หรือ 1 ฟอง ส่วนที่เหลือ 86 ฟองไม่มีการฟัก ส่วนลูกเต่าที่ออกจากไข่เพียง 1 ตัวนั้น อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งจะดูแลอนุบาลไปจนถึงอายุประมาณ 6 เดือนก่อนปล่อยคืนกลับสู่ท้องทะเล อย่างไรก็ตามในโซเชียลได้มีการพูดถึงประเด็นดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่วิงวอนให้ลูกเต่าอยู่รอดแม้เพียง 1 ตัวก็ตาม พร้อมตั้งชื่อลูกเต่าตัวดังกล่าวว่า "เจ้าโทน" เนื่องจากรอดเพียงตัวเดียวอีกด้วย.

(ภาพจาก Seaman Freeman)