ภาพจาก กฟผ.

แกนกลุ่มคัดค้านสร้างโรงไฟฟ้าเทพา เผย ผลศึกษา EHIA ส่อหมกเม็ด ปชช.ในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม และยังดำเนินการลวกๆ ขณะที่ กฟผ.ชี้แจง การทำ EHIA ได้เปิดให้ปชช.เข้ามาร่วมตั้งแต่ต้น รับฟังความเห็นอย่างโปร่งใส พร้อมรับทุกข้อกังวล...

เมื่อวันที่ 2 ก.ย.2560 นายดิเรก เหมนคร แกนกลุ่มคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา กล่าวภายหลังที่ได้เดินทางไปยื่นคัดค้านการทำ EHIA ที่กระทรวงพรัย์ยากรและสิ่งแวดล้อมว่า ผลจาการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพความเป็นอยู่ของประชาชน หรือ EHIA เป็นการหมกเม็ดแหกตาต่อประชาชนชาว อ.เทพา การศึกาษคัดลอกมาจากไหนไม่รู้ ข้อมูลพื้นฐานไม่เป็นความจริง เช่นการพบไม้เต็งรังในพื้นที่ ก็บิดเบือน คลองตุยงมีเพียงปลากระดี่ปลาหมอ โดยที่ประชาชนในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วม ห้ามคนเห็นต่างเข้าร่วมกิจกรรม ดำเนินการทำรายศึกษาแบบลวกๆ ให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.)นำไปพิจารณา ก่อนส่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ตามขั้นตอนในวันที่ 6 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นไปตามคาดที่ ครม.ต้องอนุมัติโครงการตามแผนของผู้มีอำนาจ กลุ่มคัดค้านเราไม่เห็นด้วยพร้อมเกาะติดการต่อต้านให้ถึงที่สุด

ด้าน นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จังหวัดสงขลา เป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ที่ปัจจุบันยังต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง โดยมี กฟผ. เป็นผู้รับผิดชอบศึกษาโครงการตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555

...

พร้อมมอบหมายให้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเทพา ได้มีการลงพื้นที่ให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกระตุ้นให้คนในชุมชนใช้สิทธิ์แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีในหลายช่องทาง สำหรับในขั้นตอนการศึกษาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) นั้น กฟผ. ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ทั้งชาวจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดปัตตานี ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ EHIA ตั้งแต่ต้น และจัดเวทีให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างโปร่งใสทั้งจากผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พร้อมรับทุกข้อห่วงกังวลมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาโครงการร่วมกัน ข้อคิดเห็นและข้อวิตกกังวลทุกประเด็น ได้ถูกบันทึกและรวบรวมเป็นมาตรการเพื่อลดความวิตกกังวลและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 

ทั้งนี้ กฟผ. ใช้เวลาในการศึกษาและจัดทำรายงาน EHIA ประมาณ 1 ปี จากนั้นคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้ใช้เวลาในการพิจารณารายงาน EHIA อย่างรอบคอบอีกถึง 1 ปี 10 เดือน รวมเป็นเวลาเกือบ 3 ปี คชก. จึงได้พิจารณาเห็นว่าข้อมูลในรายงานฉบับดังกล่าวมีความครบถ้วน ซึ่งจากนี้จะได้มีการนำรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อีกครั้ง ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เพื่อประกอบการพิจารณาของ ครม. ตามขั้นตอนต่อไป.