ขอนแก่นแล้งวิกฤติหลายพื้นที่! เจ้าของสัตว์เลี้ยง โอด ต้อนวัว-ควาย หาแหล่งน้ำไกลหลายกิโล เนื่องจากน้ำแห้งขอดหมดแล้ว ขณะที่ชาวบ้านบางราย พลิกวิกฤติ เปลี่ยนจากการจับปลามาขุดปูนาขาย สร้างรายได้ พออยู่กิน ด้านผู้ว่าฯ เร่งประสานทุกหน่วยงานช่วยเหลือ ปชช.ที่รับผลกระทบ...

วันที่ 12 ม.ค.59 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปในพื้นที่ หมู่ที่ 8 ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น พบกับ นายทองดี อักคะ อายุ 75 ปี ชาวบ้านหนองแวงไร่ ซึ่งกำลังต้อน วัว ควาย ไปตามทุ่งนา ระยะทางเกือบ 3 กม.ทุกวัน เพื่อให้สัตว์ที่เลี้ยงมีหญ้ากิน มีน้ำดื่ม ประทังชีวิตสัตว์ที่เลี้ยงไว้เป็นจำนวน 20 ตัว 

นายทองดี กล่าวว่า การต้อน วัว ควาย ในระยะทางที่ไกลออกไปในระยะนี้ว่า หมู่บ้านประสบกับความแห้งแล้งมาร่วม 3 เดือนแล้ว พืชผักที่ปลูกไว้กินเฉาตาย ยังพอซื้อกินได้ แต่สัตว์ที่เลี้ยงไว้ เช่น วัว ควาย ต้องกินหญ้า กินน้ำ ในปริมาณที่มากพอสมควรในแต่ละวัน ต้องต้อนออกจากบ้านแต่เช้า เพื่อหาแหล่งหญ้า แหล่งน้ำให้ได้ก่อนคนอื่นๆ ที่เลี้ยงสัตว์เหมือนกัน เพราะถ้าออกสายหรือช้า วัว ควายก็ไม่มีหญ้ากิน ต้องต้อนไปไกลกว่าเดิมอีก พาไปหากินตอซังข้าวตามท้องนาที่ชาวบ้านเพิ่งเก็บเกี่ยวข้าวใหม่ๆ ห่างจากหมู่บ้านกว่า 3 กม. เพราะหนองน้ำและห้วยสาธารณะที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน น้ำแห้งขอดหมดแล้ว ถือว่าลำบากทั้งคนทั้งสัตว์เลี้ยง แต่ไม่รู้จะไปร้องขอความช่วยเหลือกับใคร เพราะที่อื่นๆ ก็ประสบภัยแล้งไม่มีน้ำกินน้ำใช้เช่นกัน

...

อีกด้านของทุ่งนา พบ นายสมควร ทาโท อายุ 40 ปี ชาวบ้านลาน ต.บ้านลาน อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เดินถือเสียม เพื่อหารูปูนา เพื่อจะขุดเอาปูนำกลับไปขายและเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัว จากการพูดคุย นายสมควร เผยว่า ปีนี้แล้งมาเร็ว และแล้งหนักกว่าทุกปี น้ำตามห้วย หนอง คลอง บึง แห้งหมด จึงไม่สามารถลงจับปลาได้อีก จำเป็นต้องเปลี่ยนการหาอาหารจากการจับปลา มาเป็นการหาขุดปูตามท้องนาและหารูปูตามขอบสระ ขอบหนอง แต่ก็หายาก ดินก็แห้งแข็ง ขุดปูลำบากมาก ส่วนปูที่หามาได้ก็นำมาเป็นอาหารเลี้ยงครอบครัว เช่น หลนปู อ่อมมันปู หมกปู จี่ปู แต่ละวันจะเดินลัดเลาะตามทุ่งนาหลายก็โลเมตร เพื่อขุดปู จะได้ประมาณวันละ 50-100 ตัว วันไหนได้มาก ก็แบ่งจะขายให้เพื่อนบ้าน จำนวนปู 10 ตัว 20 บาทบ้าง 30 บาทบ้าง แล้วแต่ขนาดของปู ก็พออยู่พอกินไปวันๆ ดีกว่าต้องพาครอบครัวไปรับจ้าง

ด้าน จังหวัดขอนแก่น มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 16 อำเภอ 105 ตำบล 1,005 หมู่บ้าน 53,479 ครัวเรือน 27,854 คน มีพื้นที่การเกษตรเสียหาย 478,377 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ซึ่งทาง ผวจ.ขอนแก่น ประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สูบน้ำจากลำน้ำชี และลำน้ำพองเป็นหลัก เพื่อกักเก็บไว้ในหนองน้ำสาธารณะ เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอหรือเก็บให้ได้มากที่สุด เพราะสถานการณ์ภัยแล้งที่ขอนแก่น เริ่มแล้งมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ส่วนในปี 2559 จะแล้งหนักมากที่สุด จึงให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งระบบ และหาอาชีพเสริมให้ชาวบ้านด้วย

ส่วน ธ.ก.ส. ก็มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 4 โครงการ คือ ขยายเวลาหนี้ลูกค้าเดิมออกไป 24 เดือน โครงการสินเชื่อปรับปรุงระบบการผลิตด้านเกษตร เพื่อพัฒนาระบบน้ำ กู้รายละ 100,000 บาท ชำระหนี้ไม่เกิน 10 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ปลอดดอกเบี้ยต้นเงิน 3 ปีแรก โครงการสินเชื่อสร้างงานสร้างชุมชนรายละไม่เกิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 โครงการสินเชื่อสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มละไม่เกิน 1 ล้าน ดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี.