'ศุภชัย' อดีต รมช.เกษตรฯ นำชาวสวนยางนครพนมแถลงจุดยืนระดมหมื่นคน ขู่ยกระดับชุมนุมที่กรุงเทพฯ จี้รัฐเร่งรัดแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ อัดยับรัฐไม่มีความจริงใจ ยันไม่เกี่ยวการเมือง แต่เป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชน...

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 28 ส.ค. 56 ที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม นายศุภชัย โพธิ์สุ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ พร้อมด้วย นายวิชิต สมรฤทธิ์ อายุ 53 ปี ประธานเครือข่ายยางพารา จ.นครพนม พร้อมด้วย นายสันต์ อยู่บาง อายุ 50 ปี นายกชาวสวนยางนครพนม พร้อมตัวแทน เกษตรกร ยางพาราจังหวัดนครพนม ร่วมกันแถลงข่าว ประกาศจุดยืน ที่จะยกระดับการชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายาง หลังเคยมีการเรียกร้องผ่านระดับจังหวัด ไปยังรัฐบาลหลายครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยมีการประกาศจะระดมเกษตรกรชาวสวนยางนครพนม ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน เดินทางไปร่วมชุมนุมครั้งใหญ่ที่ กทม. ในวันที่ 3 ก.ย. 56 เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ทำให้ราคายางตกต่ำ แลปัจจุบันต้องขายยางพาราในราคาขาดทุน

นายศุภชัย กล่าวว่า ในการออกมาประกาศจุดยืนในการเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือปัญหาอื่น แต่เป็นปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง เนื่องจากยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมหาศาล ที่รัฐบาลเคยสนับสนุนส่งเสริม แต่พอเกิดปัญหาราคาตกต่ำ กลับไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยทางคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติ มีการกำหนดราคายางแผ่น ต่ำกว่า 70 บาทต่อกิโลกรัมนั้น ถือว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจกับเกษตรกร รวมถึงการเสนอจัดงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ในการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแก้ไข เป็นเรื่องอนาคต ที่ต้องเสนอ ครม.พิจารณา

"ส่วนตัวเชื่อว่าในการแก้ปัญหาราคายาง ไม่สามารถจะดำเนินการเพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้ รัฐบาลต้องหันมาร่วมกันแก้ไขจริงจัง เพราะยางพาราไม่ใช่สินค้าที่บูดเน่า สามารถเก็บสต๊อกได้ ซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ส่วนการที่จะเอาแนวทางรัฐบาลชุดเดิมมาแก้ไข ในส่วนที่เป็นประโยชน์ เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องเสียหาย อยากให้รัฐบาลแยกให้ออก ระหว่างการเมืองกับความเดือดร้อนของเกษตรกร" อดีต รมช.เกษตรฯ กล่าว

ด้านนายสันต์ กล่าวว่า ปัจจุบันชาวสวนยางนครพนมมีความเดือดร้อนไม่แพ้พื้นที่อื่น เนื่องจาก จ.นครพนม ถือเป็นพื้นที่ปลูกยางพารามากเป็นอันดับ 2 ของภาคอีสาน รองจากพื้นที่ จ.บึงกาฬ ปัจจุบันในพื้นที่ จ.นครพนม มีเกษตรกรชาวสวนยาง ประมาณ 15,000 ราย มีพื้นที่ปลูกราว 2.5 แสนไร่ มีการผลิต มูลค่าส่งขายประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันต้องแบกรับภาระต้นทุนสูง บางรายต้องเป็นหนี้สินจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จึงต้องออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันราคายางแผ่นตกกิโลกรัมละ 70 บาท ถือเป็นราคาต้นทุน เคยเรียกร้องให้รัฐบาลมาแก้ไข แต่ไม่ได้รับความจริงใจ ทั้งที่ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของอีสาน จึงอยากให้มีการแก้ไขเร่งด่วน หากไม่แก้ไข ก็ได้การประกาศจุดยืนที่จะระดมเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 10,000 คน ไปร่วมชุมนุมที่ กทม.แน่

นายสันต์ กล่าวอีกว่า จากการหารือทางคณะกรรมการเครือข่ายชาวสวนยาง ต้องการให้รัฐบาลกำหนดราคายางพารา ดังนี้ ยางแผ่นรมควัน ชั้น 3 กิโลกรัมละ 101 บาท ยางแผ่นดิบ ชั้น 3 ราคากิโลกรัมละ 93 บาท น้ำยางสด 100 เปอร์เซ็นต์ ราคากิโลกรัมละ 81 บาท และยางก้นถ้วย 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 83 บาท แต่มติแนวทางการแก้ไขคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติแห่งชาติ ยังไม่ตรงตามความต้องการของเกษตรกร จึงไม่รับพิจารณา และยืนยันที่จะเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง.

...