อุบลฯ ประกาศภัยแล้ง 24 อำเภอ กิินพื้นที่เกือบทั้งจังหวัด ผู้เดือดร้อน 1.4 แสนกว่าครัวเรือน ไร่นา-กระชังเลี้ยงปลาได้รับความเสียหายหนักจากน้ำมูลแห้ง พ่อเมืองตั้งศูนย์ช่วยเหลือ ติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนและแหล่งเก็บน้ำเตรียมความพร้อม รวมถึงจัดหาน้ำสำรอง...
เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2556 นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้ประกาศเขตพื้นที่การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากภัยแล้ง จำนวน 24 อำเภอ 158 ตำบล 1,328 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 149,738 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหาย 11,420 ไร่ ประกอบด้วย อ.เหล่าเสือโก๊ก อ.เมืองอุบลราชธานี อ.ดอนมดแดง อ.โพธิ์ไทร อ.เขมราฐ อ.กุดข้าวปุ้น อ.พิบูลมังสาหาร อ.ตาลสุม อ.ม่วงสามสิบ อ.สิรินธร อ.ทุ่งศรีอุดม อ.ตระการพืชผล อ.เดชอุดม อ.นาตาล อ.โขงเจียม อ.น้ำขุ่น อ.สว่างวีระวงศ์ อ.สำโรง อ.บุณฑริก อ.นาจะหลวย อ.วารินชำราบ อ.ศรีเมืองใหม่ อ.นาเยีย และ อ.เขื่องใน ยกเว้น อ.น้ำยืน ที่ยังไม่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ
นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบด้านการประมงต่อผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง เนื่องจากน้ำมูลแห้งลง ทำให้ปลาขาดออกชิเจน ในเขตพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.สว่างวีระวงศ์ อ.พิบูลมังสาหาร อ.สิรินธร อ.ดอนมดแดง อ.วารินชำราบ และอ.ตาลสุม ซึ่งในแต่ละปีมีรายได้ประมาณ 560 ล้านบาทต่อปี ทางจังหวัดจึงจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2556 เพื่อเป็นการประสานการปฏิบัติการช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ราษฎร ผู้ประสบภัยแล้ง รวมทั้งการจัดทำแผนปฏิบัติการ ติดตามสภาวะอากาศ สถานการณ์น้ำในเขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูล ลำเซบก เซบาย อ่างเก็บน้ำ และแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบ
รวมถึงการจัดหาสำรองน้ำอุปโภค บริโภค วางแผนการใช้น้ำร่วมกับชลประทานในพื้นที่ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และหันมาลี้ยงไก่และเป็ด และชะลอการปลูกข้าวนาปรัง และแจ้งให้อำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนได้อย่างทั่วถึง.
...