ทีมนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น พบอีก ซี่โครงไดโนเสาร์กินพืช และพบฟันของไดโนเสาร์กลุ่มกินเนื้อ อายุ 110-100 ล้านปี ที่ จ.ขอนแก่น หวังรัฐควรส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเรียนรู้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังสวนเกษตรไร่ตามา หลังจากที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก สวนเกษตรไร่ตามา โพสต์คลิปและภาพนิ่ง พร้อมอธิบายว่า วันนี้ทีมนักวิจัยไทย-ญี่ปุ่น เข้ามากางเต็นท์ ขุดค้นวันแรกจ้า นอนอยู่กับไดโนเสาร์นี่แหละเด้อ

ผู้สื่อข่าวจึงได้ประสานไปยังคนโพสต์ และลงพื้นที่ไปยังจุดดังกล่าวพบกับนางแน่น พรหมรินทร์ อายุ 56 ปี ชาวบ้านห้วยหินเกิ้ง ม.11 ต.โพนเพ็ก อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เจ้าของสวนเกษตรไร่ตามา ได้พาผู้สื่อข่าวเดินทางจากจุดที่เป็นสวนเกษตรไปยังหินหร่อง ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของที่นาและสวนเกษตร จุดที่ทีมนักวิจัยไทยและญี่ปุ่นทำการขุดหากระดูกไดโนเสาร์

นางแน่น เปิดเผยว่า ที่ดินแปลงนี้ เป็นที่ ส.ป.ก. จำนวน 42 ไร่ ตนและครอบครัวทำนาและทำสวนเกษตร เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่ปี 2512 กระทั่งปี 2548 พระอาจารย์สุบิน ขันติธโร เจ้าอาวาสวัดสวนป่าสมถสายชลมัญจาคีรี บ้านห้วยหินเกิ้ง เดินหาหินที่บริเวณหินหร่อง เพื่อจะนำหินไปสร้างกุฏิวัด มาพบกระดูกสันหลัง 1 ข้อ ตอนนั้นพระอาจารย์สุบินคิดว่าเป็นกระดูกสันหลังช้าง จึงเก็บไปทำวัตถุมงคล และได้เล่าสู่พระมงคล สุนทโร พระวัดบ้านหนองแปนฟัง พระสุนทรและพระอาจารย์สุบินจึงพากันมาตรวจสอบที่หินหร่องอีกครั้ง มีความเห็นว่าไม่น่าจะใช่กระดูกสันหลังของช้าง แต่อาจจะเป็นกระดูกไดโนเสาร์

...

ปลายปี 2549 พระสุนทรจึงส่งภาพและส่งเรื่องไปยังกรมทรัพยากรธรณี ในปี 2550 กรมฯ จึงส่งนักวิชาการลงพื้นที่มาตรวจสอบ และขุดเปิดหลุมบริเวณหินหร่อง พบกระดูกซี่โครงและฟันของไดโนเสาร์กินพืช ตัวใหญ่ คอยาว พร้อมทั้งเก็บชิ้นส่วนที่พบไปเก็บรักษาไว้ จากนั้นก็มีการขุดมาเรื่อยจนถึงปี 2554 จึงได้หยุดการขุด ตนได้ยกที่ดินในพื้นที่หินหร่องให้ทางราชการในการขุดหาซากไดโนเสาร์ไปเรียบร้อยแล้ว

และในเดือนธันวาคม 2567 ก็มีนางสาวศศอร ขันสุภา นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี พร้อมทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาขุดอีกครั้ง โดยส่วนตัวไม่หวงห้ามหากจะมีการขุดค้นในพื้นที่ที่ดินของตัวเอง เพราะถือว่าเป็นสมบัติของแผ่นดิน แล้วยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เยาวชนเข้ามาชม มาดูหาความรู้ได้ตลอด

ทางด้านนางสาวศศอร ขันสุภา นักวิชาการทรัพยากรธรณีชำนาญการพิเศษ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับนักวิจัยขุดหิน เพื่อหาชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ เปิดเผยว่า จุดที่กำลังขุดนั้น เคยมีนักวิจัยมาทำการขุดสำรวจหาชิ้นส่วนของไดโนเสาร์แล้วเมื่อปี 2550-2554 แต่ก็ต้องหยุดไป เพราะทีมวิจัยต้องไปศึกษาที่ต่างประเทศ อีกทั้งขณะนั้นขาดแคลนงบประมาณการทำวิจัยจึงหยุดขุดไป แต่ในปัจจุบัน มีทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ต้องการศึกษาค้นคว้าในประเทศไทย จึงร่วมมือกันกลับมาขุดที่หลุมเดิมที่หินหร่องแห่งนี้

การขุดครั้งนี้ หลังจากขุดลงไปใต้ชั้นหิน ลึกประมาณ 1 เมตรก็พบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลของซอโรพอด เป็นซี่โครงของไดโนเสาร์กลุ่มกินพืช และพบฟันของไดโนเสาร์กลุ่มกินเนื้อหรือเทอโรพอด ทั้งสองชนิด อายุประมาณ 110-100 ล้านปี ทั้งยังพบไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก อายุ 9-7 แสนปี และพบหอยน้ำจืด หอยกาบคู่ เป็นหอยสองฝาด้วยเช่นกัน

นางสาวศศอร ขันสุภา กล่าวอีกว่า การทำงานของทีมนักวิจัยนั้น ขาดแคลนงบประมาณสนับสนุนจริง ก็อยากให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณบ้าง เพราะการขุดและทำวิจัยในเรื่องซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลนั้น จริงๆ แล้ว สามารถต่อยอดได้ ทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้นักเรียน นักศึกษา เข้ามาหาความรู้และยังจุดขายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกด้วย

...