สสจ.อุดรธานี ชี้แจงกรณี "ผิง ชญาดา" ไล่ไทม์ไลน์ก่อนเสียชีวิต พบติดเชื้อในกระแสเลือด-มีเชื้อรา หากญาติติดใจ สามารถร้องขอชันสูตรเพิ่มได้

จากกรณี น.ส.ชญาดา พร้าวหอม หรือ ผิง อายุ 20 ปี นักร้องลูกทุ่งหมอลำ รถแห่ เสียชีวิต เนื่องจากก่อนหน้ามีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ แล้วไปนวดที่ร้านแห่งหนึ่ง ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี โดยระบุว่ามีการบิดคอ หรือหักคอ ต่อมามีอาการชาแขน ขา ลำตัว ผลเอกซเรย์พบว่ากระดูกคอเคลื่อนทับเส้นประสาทจนป่วยติดเตียง และมีอาการทรุดลงหายใจลำบาก ต้องนำส่งโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี อยู่ในไอซียู 10 วัน ก่อนเสียชีวิต ซึ่งต่อมา เจ้าหน้าที่ สสจ.อุดรธานี ได้ลงตรวจร้านนวดที่เกิดเหตุ พบมีหมอนวด 7 คน รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ธันวาคม 2567 ดร.นพ.สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี นายคงจักร์ บุญทัน ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 8 ร่วมกันแถลงข่าว ชี้แจงกรณี ผิง ชญาดา ได้เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 หลังจาก 3 เดือนก่อน ไปนวดที่ร้านนวดแห่งหนึ่งริมหนองประจักษ์ศิลปาคม หมอนวดได้นวดลักษณะ "บิดคอ" เมื่อมีอาการชา ก็ไปนวดอีก 2 ครั้ง ในที่สุดก็ป่วยไปไหนไม่ได้ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

ดร.นพ.สมชายโชติ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชน การมาแถลงครั้งนี้เพื่อให้รับข้อมูลตรงกันว่า รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้นวดแผนไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่งในการมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีบางส่วนอยู่เหนือการควบคุมของหน่วยงานราชการ โดยมีเป้าหมายสร้างความเชื่อมั่นประชาชน หลังทราบข่าวได้มอบให้ทีมงานเดินทางไปเคารพศพ "ผิง ชญาดา" ที่บ้านพัก และได้พูดคุยให้กำลังใจญาติ พร้อมกับการให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การรักษาเป็นอย่างไร ซึ่งก็ตรงกับการที่สื่อมวลชนรายงานส่วนหนึ่ง รวมทั้งแนะนำการช่วยเหลือ อาทิ "กองทุนยุติธรรม"

...

จากการพูดคุย ทราบว่า น.ส.ชญาดา ไปนวดในร้านนวดในอุดรธานี เมื่อ 5 ตุลาคม 2567 ด้วยอาการเริ่มต้นปวดคอ บ่า ไหล่ โดยอ้างว่าการนวดมีการ "บิดคอ" หรือ "หักคอ" ด้วย หลังจากนวดแล้วสองวัน ก็มีอาการปวดที่ท้ายทอย จนต้องรับประทานยาระงับอาการปวด จากนั้นหนึ่งสัปดาห์ได้กลับไปนวดอีกครั้งที่ร้านเดิมกับหมอนวดคนเดิม ต่อมาก็มีอาการปวดมากขึ้น จึงกลับไปร้านนวดร้านเดิมแต่คนนวดใหม่ เมื่ออาการไม่หายก็มาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี

"30 ตุลาคม 2567 ไปโรงพยาบาลพิบูลย์รักษ์ ในอาการเดียวกัน แพทย์ได้เอกซเรย์แล้วก็ส่งต่อโรงพยาบาลหนองหาน แพทย์ได้สั่งยาแล้วให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน ไม่กี่วันก็เดินทางมาที่โรงพยาบาลพิบูลย์รักษ์อีก และส่งต่อมาที่โรงพยาบาลหนองหาน และในช่วง 6-11 พฤศจิกายน โรงพยาบาลหนองหาน ส่งต่อมายังโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ได้นอนรักษาตัวอยู่ที่ตึกกระดูกและข้อ แพทย์ตรวจพบแขนขาอ่อนแรง ไม่มีปัญหาเรื่องกระดูกหักที่ต้นคอ ได้ปรึกษาแพทย์อายุรกรรมจึงเจาะหลัง พบว่าเป็นไขสันหลังอักเสบ จึงทำการรักษาด้วยยา(ฉีด) จากนั้นก็ให้ยาแบบกินหรือรับประทาน แล้วให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน โดยไปรับยาที่โรงพยาบาลหนองหาน" ดร.นพ.สมชายโชติ กล่าว

ต่อมา ญาตินำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลพิบูลย์รักษ์ จึงส่งตัวมารับยาต่อที่โรงพยาบาลอุดรธานี โดยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ญาติปรึกษาเรื่องของอาการเกร็ง กระตุกของผู้ป่วย วันที่ 22 พฤศจิกายน ผู้ป่วยถูกเข้าห้องไอซียู นี่คือข้อมูลที่สามารถให้ได้ ส่วนบันทึกต่างๆ รายงานทางการแพทย์ ถือว่าเป็นความลับของผู้ป่วย ทางหมอเองพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ทั้งหมดต้องอยู่ที่ญาติ ทั้งนี้ ขอแสดงความเสียใจกับน้องที่เสียชีวิตด้วยอาการการติดเชื้อในกระแสโลหิต อีกทั้งการติดเชื้อรา ซึ่งการติดเชื้อในครั้งนี้ ยังไม่สามารถระบุสาเหตุชัดเจนว่าติดจากไหนได้ อาจจะเป็นการติดช่วงที่มีอาการป่วยแล้วนอนติดเตียง ซึ่งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญมาตอบ โดยอิงกับหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาประกอบ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิทธิ์ของญาติที่จะร้องทุกข์

อย่างไรก็ตาม สสจ.อุดรธานี ร่วมกับศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 8 ตรวจสอบเบื้องต้นในร้านที่ถูกระบุว่า น้องผิงไปรับบริการนวด พบว่าได้รับอนุญาตถูกต้อง มีพนักงานนวด 7 คน สามารถแสดงใบรับการอบรมแบบเป็นการนวดเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมงได้ 6 คน อีก 1 คน ตรวจสอบผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ระบุว่าคนนี้ผ่านการอบรม 150 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน

สำหรับการนวดแยกออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเรียกว่าการนวดเพื่อสุขภาพ หรือนวดผ่อนคลาย ผู้นวดจะต้องผ่านการอบรม 150 ชั่วโมง ไม่มีการนวดแบบบิดคอ หรือบิดตัว เจ้าของผู้ประกอบการต้องกำกับดูแล

ส่วนประเภทที่สอง จะต้องผ่านการอบรมไม่น้อยกว่า 372 ชั่วโมง ถือเป็นเรื่องของวิชาชีพกำกับโดยแพทย์แผนไทย ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะได้รับใบผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย มีสภาการแพทย์แผนไทยเป็นคนกำกับมาตรฐาน เหมือนกับแพทย์ทั่วไปที่ต้องกำกับดูแลด้วยแพทย์สภา ซึ่งลักษณะเป็นการรักษา มากกว่าการนวดเพื่อคลายเครียด ส่วนการนวดจริงเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ ตามกฎหมาย กรณีพิสูจน์ทราบว่าเป็นเหตุเกี่ยวข้องกันหรือไม่ จะต้องมีทำตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งญาติได้ไปแจ้งความกับตำรวจแล้ว ก็จะเป็นหน้าที่ของเจ้าตำรวจจะดำเนินการ สาเหตุตามข้อสงสัยจะต้องพิสูจน์ทราบ คือการผ่าชันสูตรพลิกศพ ซึ่งต้องขึ้นกับอยู่กับญาติ โดยกระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อเข้าสู่กระบวนการ

...

สำหรับพนักงานนวดที่มานวดให้กับผู้ป่วย 2 ครั้ง และใช้วิธีการนวดแบบบิดคอ ยังอยู่ในระหว่างการพิสูจน์ทราบว่าพนักงานคนนั้นเป็นใคร โดยข้อมูลที่เราไปตรวจสอบ เขาก็ตอบได้เท่าที่เขาตอบเราได้ อาจจะจดจำกันไม่ได้ เพราะนานมาแล้ว หรือไม่พร้อมที่จะให้ข้อมูล คล้ายกับการเก็บข้อมูลไทม์ไลน์ของการพบผู้ป่วย โควิด-19

นอกจากนี้การเคลื่อนของกระดูกซี่ที่ 1-4 ทำให้คนป่วยเสียชีวิตได้หรือไม่ ผู้ตอบได้ดีที่สุดก็คือแพทย์ด้านกระดูก แต่อธิบายได้ว่า อะไรที่มันไม่ปกติมันก็มีผลทั้งนั้น การผิดรูปก็มีหลายรูปแบบ ผิดรูปตั้งแต่เกิด, ถูกกระทบกระแทก, การติดเชื้อ และมะเร็ง ซึ่งต้องรอแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้อธิบาย