เจ้าอาวาสวัดดงเค็ง ยืนยันจะสร้าง "อาคารอเนกประสงค์" ต่อไป หลังเทศบาลออกหนังสือสั่งให้ยุติการก่อสร้าง บอกเป็นอาคารที่มีไว้สำหรับเด็กนักเรียนใช้ประโยชน์

วันที่ 4 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณี เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ตัวแทนชาวบ้านในชุมชนโดยรอบวัดดงเค็ง เทศบาลตำบลประทาย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ได้ร้องเรียนถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสกายวอล์กเพื่อการศึกษา ร.ร.เจ้าคุณปริยัติมุนีวิทยาวัดดงเค็ง โดยมีการทุบกำแพงวัดบริเวณฝั่งที่ติดกับด้านหน้าโรงพยาบาลประทาย ก่อสร้างต่อเติมอาคารลักษณะคล้ายห้องแถวร้านค้า โดยไม่ได้บอกกล่าวชาวบ้านให้ทราบก่อน ทำให้ชาวบ้านที่มีเถ้าอัฐิของบรรพบุรุษบรรจุเก็บรักษาอยู่ภายในกำแพงได้รับความเสียหาย เกิดความไม่พอใจในการกระทำของเจ้าอาวาส

รวมถึงทางเทศบาลตำบลประทาย ได้ทำหนังสือขอให้ระงับการก่อสร้างมาแล้ว 2 ครั้ง เนื่องจากทางวัดยังไม่เคยขออนุญาตในการก่อสร้าง แต่เจ้าอาวาสวัดกลับยังเพิกเฉย ยังคงมีการแอบก่อสร้างอยู่เรื่อยๆ เป็นระยะ พร้อมทั้งส่งแบบแปลนการก่อสร้างระบุ "อาคารอเนกประสงค์" เพื่อให้เทศบาลตำบลประทายอนุมัติการก่อสร้างตามแบบที่ขออนุญาต

...

ล่าสุดได้มีหนังสือคำสั่งจากเทศบาลตำบลประทาย ลงวันที่ 3 กันยายน 2567 ให้ยุติการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์หลังดังกล่าว เนื่องจากมีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กองช่างเทศบาลตำบลประทาย พบว่าการก่อสร้างหลายจุดไม่ตรงตามแบบแปลนที่ได้ขออนุญาต อาทิ ระยะร่นจากแนวรั้วถึงตัวอาคารที่มีประตูเป็นช่องเปิด โครงสร้างฐานรากที่ไม่มีตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็กรองรับ มีการใช้ท่อพีวีซีเป็นแบบก่อคอนกรีต ซึ่งไม่แข็งแรงไม่ตรงตามแบบแปลน รวมถึงไม่มีคานคอดินรองรับ

นอกจากนี้หลายจุดยังมีการใช้เหล็กขนาด และชนิดเหล็กไม่ตรงตามแบบที่ขออนุญาต ซึ่งเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลประทายได้นำประกาศไปติดไว้บริเวณด้านหน้าอาคารซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างให้ทราบ โดยผู้ขออนุญาตยังมีสิทธิ์ให้การอุทธรณ์คำสั่ง โดยในระหว่างนี้ถ้าหากยังมีการฝ่าฝืนคำสั่งจะมีการแจ้งความดำเนินคดีต่อไป

ในขณะที่พระมหาวชิราฯ เจ้าอาวาสวัดดงเค็ง เปิดเผยว่า ได้มีการว่าจ้างบริษัทเขียนแบบโดยมีวิศวกร ซึ่งอดีตเคยทำงานในเทศบาลตำบลประทาย เป็นผู้เขียนแบบแปลนโครงสร้างอาคารอเนกประสงค์ เป็นจำนวน 50,000 บาท แต่คิดว่าคงถูกบริษัทหลอกสอดไส้วางยา เนื่องจากออกแบบมาไม่ตรงกับแบบที่ได้ก่อสร้างไปก่อนแล้ว ทำให้ต้องแก้โครงสร้างฯ ซึ่งต้องเพิ่มงบประมาณขึ้นไปอีก

ซึ่งอาคารหลังดังกล่าว เจ้าอาวาสเป็นคนคุมงานการก่อสร้างด้วยตนเอง โดยว่าจ้างแรงงานซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนมาช่วยอีก 3 คน โดยจ่ายค่าแรงเป็นรายวัน ทำให้ประหยัดงบประมาณ รวมถึงการที่ทางเทศบาลฯ บอกว่าใช้เหล็กขนาดไม่ตรงตามแบบที่ก่อสร้างนั้น ตนยืนยันว่าโครงเหล็กแข็งแรงรับน้ำหนักได้ไม่มีปัญหา ซึ่งถึงแม้มีหนังสือให้หยุดก่อสร้างอีกกี่ฉบับ ก็ยังคงจะสร้างต่อไปเพราะถือว่า อาคารหลังดังกล่าวมีไว้สำหรับเด็กนักเรียนที่จะได้ใช้ประโยชน์.