ลุ้นกันนาทีต่อนาที ทีมกู้ภัยเริ่มมีความหวัง เข้าใกล้ผู้ประสบภัยอุโมงค์รถไฟคลองไผ่พังถล่มนานกว่า 60 ชม.แค่คืบ หลังพบเหยื่อทั้ง 3 คนยังมีสัญญาณชีพ รายแรกอยู่ห่างจากจุดสแกนแค่ไม่กี่เมตร แต่มีอุปสรรคทั้งหินและดินร่วงไหลลงมาทับถมยากเข้าถึงตัว ต้องเปลี่ยนแผนไปใช้บล็อกเหล็กไอบีมยิงทะลุชั้นดินป้องกันการถล่มซ้ำ “อนุทิน” เชื่อทั้งหมดหลบเข้าไปอยู่ในรถแบ็กโฮและรถบรรทุกดัมพ์ ตามที่ได้ฝึกฝนมาเวลาเผชิญเหตุอุบัติภัย
ผ่านมาแล้ว 3 วัน ทีมกู้ภัยยังระดมกำลังช่วยชีวิตผู้สูญหาย 3 คน เป็นวิศวกรชาวจีน คนงานขับรถแบ็กโฮชาวจีน และแรงงานชาวพม่า หลังติดค้างในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ ช่วงคลองขนานจิตร ต.จันทึก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ตั้งแต่กลางดึกคืนวันที่ 24 ส.ค.
ความคืบหน้าของการช่วยเหลือ เช้าวันที่ 27 ส.ค. นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นอภ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ในฐานะ ผอ.กองอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีเหตุดินถล่มอุโมงค์รถไฟฟ้าความเร็วสูง ช่วงสถานีคลองขนานจิตร ต.จันทึก เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 01.00 น. ได้รับรายงานจากผู้ควบคุมงานของการรถไฟว่าได้ร้องขอการสนับสนุนเครื่องสแกนวัตถุโลหะจากภาคเอกชน และวางแผนยึดเหล็กด้านบนเพดานอุโมงค์โดยการเชื่อมเหล็กรูปตัวไอ กว้าง 20 ซม. ยาว 20 เมตร ป้องกันหินและดินที่ตกลงมา และเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน จากนั้นเริ่มติดตั้งอุปกรณ์ค้ำยันทำอุโมงค์ ใช้บิ๊กแบ็กเป็นตัวกันดินถล่ม พร้อมโกยดินออกตลอดเวลา เพื่อเข้าใกล้รถบรรทุกที่ถูกดินถล่มทับมากที่สุด
นายคณัสชนม์กล่าวต่อว่า เวลา 04.00 น. ผู้เชี่ยวชาญด้านกู้ภัยบริษัท จ่งจู่ จำกัด จากประเทศจีน จำนวน 6 คน ได้เข้าไปประเมินสถานการณ์ และปิดพื้นที่โครงการ ไม่ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าพื้นที่อุโมงค์ ทำให้ชุดกู้ภัยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กู้ภัยมูลนิธิสว่างวิชชาธรรมสถานปากช่อง และหน่วยงานอื่น ต้องถอยออกมารอด้านนอกอุโมงค์ ขณะที่ตนได้ประชุมร่วมกับหน่วย USAR ปภ. ทีมแพทย์ รพ.ปากช่องนานา เพื่อประเมินการช่วยเหลือหากพบตัวผู้สูญหาย จากนั้นเวลา 05.00 น. ทีมกู้ภัย Hunan Sunshine จากประเทศจีน เป็นทีมกู้ภัยในพื้นที่ภัยพิบัติ พร้อมอุปกรณ์กู้ภัยเดินทางมาถึงจุดเกิดเหตุเพื่อร่วมปฏิบัติงานกับทีมกู้ภัยของการรถไฟฯ เข้าช่วยคนงานที่ติดค้างในอุโมงค์
...
ต่อมาเวลา 14.00 น. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย เดินทางมาที่อุโมงค์รถไฟที่เกิดเหตุ และเข้ารับฟังบรรยายสรุปการทำงานจากทีมวิศวกรของบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และบริษัท จู่จ่ง บริษัทก่อสร้างจีนที่มารับช่วงต่อ จากนั้นนายอนุทินและคณะได้เข้าไปในอุโมงค์ ก่อนออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ทีมกู้ภัยกำลังใช้วิธีขุดดินเข้าไป ตามข้อมูลคาดว่าผู้สูญหายน่าจะอยู่ห่างจากเครื่องสแกนประมาณ 5 เมตร แต่ยังมีดินถล่มลงมาตลอดเวลา ทีมงานกำลังปรับเปลี่ยนหาวิธีการกู้ภัยให้เข้าถึงตัวผู้สูญหายเร็วที่สุด ส่วนกรณีการรถไฟฯส่งข่าวไปตามสืิ่อต่างๆ บอกว่าจะนำผู้ประสบภัยออกมาหรือช่วยเหลือมาได้ภายใน 4 โมงเย็นนี้ เรื่องนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่ถือว่าเป็นการกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะไม่รู้ว่าดินจะถล่มลงมาเมื่อใด
“ทีมงานได้ใช้ทั้งสุนัข K9 ดมกลิ่น และเครื่องสแกนสัญญาณชีพตรวจจุดเดียวกันเพื่อดับเบิลเช็ก พบว่ายังมีสัญญาณชีพอยู่ทั้ง 3 คน แม้จะผ่านมากว่า 60 ชม.แล้วก็ตามต้องเร่งเข้าไปให้ถึงตัวผู้ประสบภัย เร็วที่สุด ระยะทางตอนนี้เหลือแค่ 1-2 เมตร คาดว่า 2 คนน่าจะอยู่ในรถแบ็กโฮหรือรถบรรทุกดัมพ์ เพราะบริษัทผู้รับจ้างบอกว่าคนงานถูกฝึกมา หากเกิดเหตุฉุกเฉิน ต้องเข้าไปอยู่ในที่กำบังที่ปลอดภัย แต่สภาพบนรถไม่สบาย แอร์ก็ไม่มี เครื่องดับ แล้วยังขาดน้ำขาดอาหาร อากาศจะหายใจลดลง ส่วนอีกคนน่าจะอยู่ห่างออกไปจาก 2 คนแรก ครั้งแรกทีมกู้ภัยได้ใช้ท่อกลมดันเข้าไปแล้วใช้รถขุดเล็กขนดินออกมา แต่พอดันเข้าไปก็เจอชั้นหินชั้นดิน ต้องยกเลิกและเปลี่ยนวิธีการใหม่ ตอนนี้จะต้องใช้ทุกวิถีทางนำผู้ประสบภัยออกมาให้เร็วที่สุด จากนั้นจะรีบนำส่งให้ถึงมือแพทย์ทันที” นายอนุทินกล่าว
นายพลพัฒ กรรณสูต ประธานกรรมการ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และนายกัมปนาท มณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ให้สัมภาษณ์ว่า แผนการช่วยเหลือที่เตรียมไว้ จะใช้บล็อกเหล็กไอบีม รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร ลึก 6 เมตร ที่มีความแข็งแรง ยิงเข้าไปในชั้นดินและขุดดินออกมา ตอนนี้ยิงบล็อกไอบีมไปแล้ว 2 ด้าน ยาวท่อนละ 6 เมตร ระยะสแกนประมาณ 14 เมตร คงต้องใช้อีกหลายเส้นและต้องใช้เวลาพอสมควร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า จะสามารถช่วยเหลือคนงานคนแรกออกมาจากในอุโมงค์คลองไผ่ได้ในเวลา 16.00 น. ต่อมาเมื่อเวลา 17.00 น. แจ้งเพิ่มเติมว่ายังไม่สามารถช่วยเหลือออกมาได้ เหลือระยะทางอีก 1-2 เมตร จะถึงจุดที่คนงานติดอยู่ ยังพบสัญญาณชีพของคนงานทั้ง 3 ราย
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมกู้ภัยของ รฟท.และทีมกู้ภัย Hunan Sunshine จากประเทศจีน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องกำลังปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือเต็มที่ ระหว่างนี้ได้เติมออกซิเจนเข้าไปภายในอุโมงค์อย่างต่อเนื่อง เวลานี้ขอโฟกัสเรื่องการช่วยเหลือชีวิตก่อน จากนั้นจะมาพิจารณามาตรการในสัญญาว่าจ้างว่ามีข้อกำหนดใดที่จะดำเนินการกับบริษัทผู้รับจ้างบ้าง ผู้สื่อข่าวถามว่า บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) จ้างบริษัทอื่นเข้ามาทำงาน (Subcontract) แทนหรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบบริษัทนี้ว่าจ้างเหมาช่วงต่อหรือไม่ ขอสอบสวนข้อเท็จจริงถึงคุณภาพของงาน และการปฏิบัติงานตามระเบียบข้อกฎหมายก่อน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง
ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามเรื่องการจัดทำบันทึกรายงานการเกิดอุบัติการณ์ และอุบัติเหตุในระหว่างการก่อสร้าง หรือสมุดพกของผู้รับเหมาว่า ได้สั่งให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างโครงการต่างๆ เร่งศึกษารายละเอียด และกฎเกณฑ์ในการตัดคะแนนให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน จากนั้นให้หารือกับกรมบัญชีกลาง เพื่อทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เพราะหากพูดไปเรื่อยๆ แล้วไม่ดำเนินการจริงจัง ผู้รับเหมาจะเห็นว่าไม่มีผลใดๆ
“ขณะนี้หน่วยงานต่างๆได้เริ่มเก็บประวัติของผู้รับจ้างก่อสร้างแต่ละรายแล้ว ย้อนหลังตั้งแต่ตนเข้ามารับตำแหน่ง รมว.คมนาคม ประมาณเดือน ก.ย.66 อาทิ เคยเกิดอุบัติเหตุกี่ครั้ง มีผู้เสียชีวิตผู้บาดเจ็บกี่ราย เมื่อกฎเกณฑ์แล้วเสร็จจะนำประวัติที่เคยเก็บไว้ก่อนหน้านี้มาคำนวณย้อนหลัง เมื่อคะแนนถึงเกณฑ์จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลโครงการใดๆทั้งสิ้นทันที” นายสุริยะกล่าว
...