มหาสารคามนับเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรสำคัญที่มีศักยภาพของประเทศ ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 14 “เมืองสมุนไพร” (Herbal City) ของประเทศ

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) ติดตามสถานการณ์การผลิตของแปลงใหญ่สมุนไพร หมู่ 4 บ.หนองป้าน ต.หนองคู อ.นาดูน จ.มหาสารคาม ที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 มีการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกสมุนไพรเป็นแบบอินทรีย์และได้รับรองมาตรฐาน GAP

โดยทางกลุ่มได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัทฟาร์มแคร์ ฟาร์มาซูติคอล ภายใต้การกำกับดูแลของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตของสมุนไพรด้วยการวิจัยและทดลอง พร้อมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันทางกลุ่มมีพื้นที่ปลูกรวม 100 ไร่ สมาชิกเกษตรกร 50 ราย ปลูกสมุนไพรรวม 7 ชนิด มีสินค้าที่สร้างมูลค่าสูงสุด 3 อันดับของกลุ่ม ได้แก่ ขมิ้นชัน ไพล และฟ้าทะลายโจร

เมื่อจำแนกต้นทุนการผลิตสมุนไพร 3 ชนิด พบว่า ขมิ้นชัน ใน 1 ปี สามารถผลิตได้ 1 รุ่น ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 15,769 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิต 1,049 กิโลกรัม/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ย 22,377 บาท/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 6,608 บาท/ไร่/รุ่น

ไพล การผลิต 1 รุ่น ใช้เวลา 2 ปี ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 22,421 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิต 1,766 กิโลกรัม/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ย 46,158 บาท/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 23,737 บาท/ไร่/รุ่น

ฟ้าทะลายโจร ใน 1 ปี สามารถผลิตได้ 2 รุ่น ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 7,407 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิต 2,707 กิโลกรัม/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ย 29,075 บาท/ไร่/รุ่น ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 21,668 บาท/ไร่/รุ่น

ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.50 จำหน่ายให้กับบริษัทฟาร์มแคร์ฟาร์มาซูติคอล อีกร้อยละ 8.50 จำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ยาหม่องขมิ้นชัน ยาหม่องตะไคร้หอม ลูกประคบสมุนไพร สนใจผลผลิตทางกลุ่ม สอบถามได้ที่ โทร. 08-2115-7905.

...

สะ-เล-เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม