ภูพระบาท มรดกโลกทางวัฒนธรรมลำดับที่ 5 ของประเทศไทย และแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ตั้งอยู่ ต.เมืองพาน อ.บ้านผือ ได้รับการประกาศจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ภายใต้ชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2567 นำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ และร่วมแสดงความยินดีในความสำเร็จครั้งนี้

ย้อนไปเมื่อปี 2532 กรมศิลปากร จัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทขึ้น โดยดำเนินการศึกษาค้นคว้า วิจัย อนุรักษ์ และพัฒนาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง อันเนื่องมาจากเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ปรากฏหลักฐานพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 2,500-3,000 ปีมาแล้ว โดยได้พบภาพเขียนสีมากกว่า 47 แห่ง และพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา ตั้งแต่ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี วัฒนธรรมเขมร วัฒนธรรมล้านช้าง และรัตนโกสินทร์ ตามลำดับ

...

ความโดดเด่นที่สำคัญ คือ มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติในการปรับปรุงพื้นที่ทำให้เกิดภูมิทัศน์วัฒนธรรมเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อในพระพุทธศาสนา จนเกิดเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคที่ไม่ปรากฏในวัฒนธรรมอื่น เรียกว่า “วัฒนธรรมสีมา” มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 โดยพบกระจายอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ไทยมากกว่า 100 แห่ง และ เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2547 อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการบรรจุเข้าสู่บัญชีเบื้องต้นแหล่งมรดกโลก และได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในที่สุด

นายบวรเวท รุ่งรุจี อดีตอธิบดีกรมศิลปากร และนายกสมาคมอิโคโมสไทย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับคนไทย ซึ่งคณะทำงานได้ร่วมมือกันอย่างเต็มกำลังจนทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วง โดย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง 2 แหล่ง ประกอบด้วยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน รวมพื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก จำนวน 3,662 ไร่ 89 ตารางวา แสดงถึงคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลที่มีความเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กันทางวัฒนธรรม โดยยังคงความครบถ้วนสมบูรณ์และความเป็นของแท้ดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี

นายบวรเวท เล่าด้วยว่า หลังจากประกาศเป็นมรดกโลกแล้ว คณะทำงานได้จัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งเรื่องการอนุรักษ์การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แผนบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำแผนชุมชนด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการจัดทำข้อบัญญัติท้องถิ่นในด้านการอนุรักษ์ ดังนี้

...

1.แผนงานการส่งเสริมการศึกษาวิจัยทางวิชาการ โดยดำเนินโครงการสำรวจสภาพโบราณสถาน การจัดทำผังรูปแบบรายการ ของโบราณสถานในพื้นที่ โครงการศึกษาวิจัยเพื่อการอนุรักษ์ภาพเขียนสี เพื่อศึกษาวิเคราะห์ วิจัย และกำหนดแนวทาง วิธีการ และขั้นตอน การอนุรักษ์และการกำหนดอายุภาพเขียนสี

2.แผนงานศึกษาค้นคว้าด้านโบราณคดี ได้แก่ โครงการศึกษากลุ่มสีมา หรือหลักหินในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์และพื้นที่โดยรอบ โครงการศึกษาพัฒนาการชุมชนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในพื้นที่บริเวณภูพระบาท และศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชุมชน สิ่งก่อสร้างในสมัยประวัติศาสตร์ และพื้นที่โดยรอบ

3.แผนการใช้ที่ดิน ดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนอนุรักษ์ เพื่อส่งเสริมการใช้พื้นที่เชื่อมต่อกับการเข้าถึงแหล่งโบราณสถาน โครงการพัฒนาการใช้ที่ดินในพื้นที่วัดพระพุทธบาทบัวบก เพื่อจัดระเบียบการใช้ที่ดินและปรับปรุงภูมิทัศน์ในพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวโบราณสถาน และโครงการพัฒนาปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยมีแนวทางในด้านการร่วมอนุรักษ์พื้นที่ป่าสงวน การปลูกป่า ปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นเพิ่มเติม ตลอดจนการหาพื้นที่ธรรมชาติเพื่อกักเก็บน้ำจากภูเขาในช่วงฤดูฝน

...

4.แผนงานการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้แก่ โครงการส่งเสริมด้านวัฒนธรรมประเพณี ร่วมวางแผนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โครงการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพสินค้าหัตถกรรมชุมชนให้มีคุณภาพดี ตอบสนองความต้องการของตลาด รวมถึงการฝึกอบรมให้แก่ช่างประจำท้องถิ่น ช่างอนุรักษ์ในพื้นที่ให้เกิดความชำนาญ

5.แผนงานพัฒนาเพื่อการท่องเที่ยวและเรียนรู้ ได้แก่ โครงการเสริมสร้างเครือข่ายพัฒนาการท่องเที่ยว และโครงการอุทยานการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์โบราณคดี

6.แผนงานพัฒนาสาธารณูปโภค ได้แก่ โครงการปรับปรุงถนน พื้นที่สัญจร และทางเดินภายในอุทยานประวัติศาสตร์ การปรับปรุงระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์และระบบสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต และการจัดเส้นทางการท่องเที่ยวที่เหมาะสมเชื่อมโยงแหล่งโบราณสถานที่สำคัญ

7.แผนงานพัฒนาภูมิทัศน์ บริเวณพื้นที่ส่วนบริการวิชาการและการท่องเที่ยวอุทยาน พื้นที่แหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน เชื่อมโยงกับวนอุทยานภูพระบาทบัวบก

นอกจากนี้ยังได้จัดทำแผนการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชนต่อการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลกอย่างยั่งยืน รวมทั้งจัดทำแผนงานการมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบประเมินผล การดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

...

ทีมข่าววัฒนธรรม มองว่า ห้วงเวลากว่า 20 ปีแห่งการรอคอยและความร่วมมือร่วมใจ ตลอดจนความพยายามของทุกภาคส่วนสู่การได้รับการประทับตราแหล่งมรดกโลก “ภูพระบาท” จากองค์การยูเนสโก เป็นการพิสูจน์ฝีมือของประเทศไทย ที่สามารถสานฝันสู่ความสำเร็จได้อย่างงดงาม

สิ่งที่เราขอฝากคือ ในฐานะเจ้าของมรดกทางวัฒนธรรม เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ควรตระหนัก และให้ความสำคัญในการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการแหล่งมรดกโลกให้มีประสิทธิภาพตามที่ได้วางไว้

เพื่อให้การอนุรักษ์ และพัฒนา “มรดกแห่งมวลมนุษยชาติ” คงอยู่ อย่างมั่นคงและยั่งยืน.

ทีมข่าววัฒนธรรม

อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่