กรมส่งเสริมเกษตร แจงกรณีน้ำโขงสูงขึ้น กระทบพื้นที่เกษตรของจังหวัดบึงกาฬ เสียหาย 200 ไร่ พบเป็นพื้นที่ดินตะกอนทับถม ปลูกพืชผัก ข้าวโพด แต่ได้เก็บเกี่ยวแล้ว จึงส่งผลให้ความเสียหายต่อผลผลิตลดน้อยลง

จากกรณี มีรายงานข่าวว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขง สูงขึ้น 80 เซนติเมตร ทะลักท่วมพื้นที่การเกษตรของจังหวัด เสียหาย 200 ไร่ นั้น นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ชี้แจงกรณีว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬ ได้ลงพื้นที่ดังกล่าวตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเป็นพื้นที่ดินตะกอนทับถมเพิ่มขึ้นมาริมแม่น้ำโขง ซึ่งเกษตรกรใช้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ปลูกพืช เช่น พืชผัก ข้าวโพด และได้เก็บเกี่ยวไปแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่และเกษตรกรได้ประเมินความเสี่ยงจากข้อมูลปริมาณฝน ปริมาณมวลน้ำ ก่อนที่จะเกิดภัย จึงส่งผลให้ความเสียหายต่อผลผลิตลดน้อยลงไป ไม่เกิดความเสียหายตามที่ปรากฏ

ทั้งนี้ จากข้อมูลปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดจากฝนตกสะสมอย่างต่อเนื่องไหลลงจากชุมชน ประกอบกับมีมวลน้ำเหนือจาก จ.เลย จ.หนองคาย และมวลน้ำจากแม่น้ำสาขาฝั่ง สปป.ลาว ไหลมาบรรจบกันพอดี จึงทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น ทั้งนี้ สำนักงานเกษตรจังหวัดบึงกาฬได้ลงพื้นที่เพื่อสร้างการรับรู้ก่อนเกิดภัย, ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ทราบเบื้องต้นแล้ว ปัจจุบันระดับน้ำโขงของจังหวัดบึงกาฬได้ลดระดับลงมาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตร ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตาม และคอยรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนดูแลพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิด พร้อมย้ำเตือนให้เกษตรกรเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำที่จะสร้างความเสียหายในพื้นที่การเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หาทางรับมือ และบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ร่วมกับภาครัฐ ทำการพร่องน้ำ ดูแลเส้นทางน้ำให้ไหลผ่านได้สะดวก เสริมคันกั้นน้ำในจุดที่มีความเสี่ยง และเตรียมระบบระบายน้ำเพื่อลดเวลาการแช่ขังของน้ำ

...

นอกจากนี้ เกษตรกร จะต้องเสริมความแข็งแรงให้กับพืช โดยใส่ปุ๋ย/ธาตุอาหารที่จำเป็น เพื่อให้พืชทนทานต่อความเสี่ยงได้อีกระยะเวลาหนึ่ง รวมทั้งให้ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อขอรับสิทธิตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และไม่ให้เสียสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐต่อไป.