"ผู้พิการทางสายตา" ตัดพ้อลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตยาก สแกนใบหน้าไม่ผ่าน-ไม่มีอักษรเบรลล์ ต้องใช้คนช่วยทุกขั้นตอน วอนรัฐทบทวนขั้นตอนสำหรับกลุ่มคนพิการ-แก้เงื่อนไขการใช้เงิน เพราะหลายคนอยู่ต่างจังหวัด ไม่สะดวกเดินทางไปใช้จ่ายภูมิลำเนา
เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการลงทะเบียนเข้ารับสิทธิโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Walt ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ผู้ที่ต้องการรับสิทธิ ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. - 15 ก.ย. 2567 โดยบรรยากาศของการลงทะเบียนวันที่ 2 พบว่า กลุ่มผู้พิการทางสายตา ซึ่งได้รับสิทธิดังกล่าวต่างเริ่มพากันทยอยลงทะเบียนเข้ารับสิทธิ โดยเฉพาะที่มูลนิธิธรรมมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดจังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ฯ ต้องคอยแนะนำและพาผู้พิการทางสายตาดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ตามที่รัฐบาลกำหนด โดยพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคเกิดขึ้นหลายอย่าง
จากการสอบถาม น.ส.อัญธิฌา สอนแวว พนักงานตรวจและประเมินมาตรฐานสื่อการเรียนการสอน กล่าวว่า ตนเป็นผู้พิการทางสายตา ซึ่งยอมรับว่าการลงทะเบียนรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตมีอุปสรรคหลายอย่าง โดยเฉพาะการสแกนใบหน้า ซึ่งผู้พิการทางสายตาจะมองไม่เห็นว่ากรอบในโทรศัพท์ที่ต้องสแกนตรงกับใบหน้าของตัวเองหรือไม่ ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่คอยบอก หันซ้าย หันขวา และพยักหน้า จึงจะสามารถลงทะเบียนได้ เพราะในระบบเสียงบอกแค่ว่าให้ขยับหน้าตรงกับกรอบ ซึ่งไม่ได้บอกว่ากรอบอยู่ตรงไหน ด้านซ้ายหรือขวา ซึ่งก็เป็นอุปสรรค จึงควรเพิ่มคำแนะนำแบบเสียง หรือแบบอักษรเบรลล์ หรือตามความพิการของแต่ละกลุ่มเข้าไปด้วย
"ส่วนอุปสรรคที่ผู้พิการทางสายตากังวลมาก และสร้างความยุ่งยากก็คือ ต้องกลับไปใช้เงินตามภูมิลำเนาของตัวเอง โดยเฉพาะส่วนตัวมีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.อุตรดิตถ์ ก็ต้องกลับไปใช้จ่ายที่นั่น ซึ่งก็จะต้องใช้จ่ายเพียงครั้งเดียวให้หมด เพื่อไม่ต้องเดินทางไปมาหลายครั้ง เพราะมีปัญหาเรื่องการเดินทาง อีกทั้งขณะนี้ก็ใช้ชีวิตลำบากอยู่แล้ว ซึ่งถ้าหากรัฐบาลจ่ายเป็นเงินสดโอนเข้าบัญชีก็จะง่าย และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการมากขึ้น ดังนั้นหากมีเฟส 2 หรือมีการปรับแก้เงื่อนไขหรือขั้นตอน ก็อยากให้คำนึงถึงผู้พิการในการใช้การลงทะเบียนด้วย น่าจะเปลี่ยนเป็นการสแกนนิ้ว หรือรหัสตัวเลขแทนการสแกนใบหน้า หรือขั้นตอนต่างๆ ที่รัฐกำหนดตามมาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้" น.ส.อัญธิฌา กล่าว
...
ขณะที่ น.ส.ธนวันต์ วรินทร์ปกรณ์ พนักงานบริหารสื่อการเรียนการสอน โรงเรียนการศึกษาคนตาบอดขอนแก่น กล่าวว่า ผู้พิการทางสายตาส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟนลงทะเบียนผ่านระบบเสียงแล้วทำตามขั้นตอน ซึ่งตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนดก็จะมีทั้งเจ้าหน้าที่และนักเรียนของทางโรงเรียนได้รับสิทธิเกือบทุกคน ซึ่งทุกคนล้วนดีใจและได้วางแผนการใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพื่อจะนำไปใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพ ส่วนเงินเดือนของผู้พิการที่ได้รับอยู่แล้วนั้นก็จะนำไปซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวก เช่น ไม้เท้า หรืออุปกรณ์เฉพาะของคนตาบอด ซึ่งไม่มีขายในร้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ทั่วไป
"อุปกรณ์คนตาบอดมีราคาสูง ไม่สามารถหาซื้อได้ตามทั่วไป จึงอยากให้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการสามารถรับเงินดิจิทัลวอลเล็ตนี้ได้ด้วย ซึ่งถ้ามีของคนตาบอดด้วยจะดีใจมาก อย่างไม้เท้าคนตาบอดมีหลายราคา เริ่มตั้งแต่ 500-3,000 บาท ขณะที่กลุ่มนักเรียนก็ตื่นเต้นที่จะได้เงินจำนวนนี้ ทุกคนเริ่มวางแผนว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายแบบไหน ถ้าเป็นไปได้อยากให้โอนเงินสดเข้าบัญชีไปเลย ให้นำเงินไปบริหารจัดการกันเอง เพื่อความสะดวกของแต่ละคน ซึ่งคนพิการเดินทางไม่สะดวก หลายคนอยู่ต่างจังหวัดก็ต้องเดินทางกลับไปใช้จ่ายในภูมิลำเนาของตัวเอง ดังนั้นจึงอยากให้มีการทบทวนการใช้จ่ายในพื้นที่เพิ่มเติมขึ้นด้วย" น.ส.ธนวันต์ กล่าว.