จังหวัดชัยภูมินับเป็นแหล่งผลิตส้มโอที่สำคัญ มีเนื้อที่ปลูก 4,640 ไร่ มากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 65.98 ของเนื้อที่ปลูกภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ที่ อ.บ้านแท่น มีเนื้อที่ปลูก 2,937 ไร่ และพันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูก คือ พันธุ์ทองดี มีรสชาติกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ เนื้อกุ้งสีขาวอมชมพู และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เมื่อปี 2562 จำหน่ายภายใต้ชื่อ “ส้มโอทองดีบ้านแท่น”

จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร รวมถึงสร้างมูลค่าให้กับจังหวัดชัยภูมิปีละ 45 ล้านบาท

โดยจังหวัดชัยภูมิได้คัดเลือกส้มโอทองดีบ้านแท่นให้เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออกของอำเภอ ภายใต้โครงการขับเคลื่อนการเกษตรระดับหมู่บ้านสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมีการจัดงานเทศกาลส้มโอหวานบ้านแท่นในเดือนสิงหาคมของทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์ส้มโอทองดีบ้านแท่นให้เป็นที่รู้จัก

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) ติดตามสถานการณ์การผลิตส้มโอทองดีบ้านแท่น พบว่า มีเกษตรกรผู้ปลูก 475 ราย ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI 89 ราย ปลูกเฉลี่ยครัวเรือนละ 35 ต้น/ไร่ ส้มโอจะเริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 4 เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนกรกฎาคม–กันยายน ผลผลิตจะออกมากที่สุดช่วงเดือนสิงหาคม

สถานการณ์การผลิตปี 2566 ได้ผลผลิตรวม 680 ตัน ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 1,500-1,600 กก./ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยปี 2566 อยู่ที่ กก.ละ 25-35 บาท

ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 55 จำหน่ายให้ผู้รวบรวมรายใหญ่ต่างจังหวัด รองลงมาผลผลิตร้อยละ 19 จำหน่ายให้กับผู้ค้าปลีกต่างจังหวัดผลผลิตร้อยละ 18 จำหน่ายให้ผู้ค้าปลีกภายในจังหวัดและห้างสรรพสินค้า Makro และผลผลิตร้อยละ 8 จำหน่ายตรงให้ผู้บริโภคผ่านหน้าร้านและแพลตฟอร์มออนไลน์ของเกษตรกรเอง.

...

สะ–เล–เต

คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้าเท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม