สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ภาค 5 รับเรื่องสอบความคุ้มค่า "ธนาคารน้ำใต้ดิน อบจ.นครพนม" กว่า 800 โครงการ งบกว่า 430 ล้านบาท หลังชาวบ้านร้องตรวจสอบ ใช้เงินไม่คุ้มค่า-พบพิรุธป้ายโครงการไม่ตรงกับพื้นที่จริงหลายจุด แถมไม่ระบุปริมาณงานชัดเจน ส่อทุจริต
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีมีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาร้องเรียนให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนครพนม ตรวจสอบความคุ้มค่าเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ โครงการขุดลอกธนาคารน้ำใต้ดิน อบจ.นครพนม ในช่วงระหว่างปี 2565-2567 มีการจัดสรรงบประมาณดำเนินการกว่า 867 โครงการ รวมเป็นเงินงบประมาณ 433,500,000 บาท โดยชาวบ้านยืนยันว่า ส่วนใหญ่ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ และไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง จึงต้องการให้หน่วยงาน ป.ป.ช. จังหวัดนครพนม รวมถึงสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนครพนม ตรวจสอบความคุ้มค่า รวมถึงตรวจสอบป้องกันการทุจริต เนื่องจากมีการจัดซื้อจัดจ้างแบบตกลงราคาโครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ส่อต่อการแสวงประโยชน์จากโครงการ อีกทั้งยังพบข้อพิรุธในโครงการหลายอย่าง ทั้งปริมาณงานไม่มีการระบุชัดเจน รวมถึงไม่มีการตรวจสอบลงประชามติจากชุมชน และเป็นการนำงบประมาณลงไปดำเนินการในพื้นที่ส่วนบุคคลเป็นส่วนใหญ่
ล่าสุด สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนคพรนม ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว พร้อมประสานเสนอเรื่องไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 5 จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มาของโครงการ รวมถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณเกิน 3 ล้านบาท ถือว่าเกินอำนาจหน้าที่ สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนครพนม ต้องส่งเรื่องต่อไปยังสำนักตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ที่ 5 จังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป เพื่อจะดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
...
ขณะเดียวกัน จากการลงพื้นที่ของผู้สื่อข่าวตามข้อร้องเรียนดังกล่าว พบพิรุธเกี่ยวกับโครงการหลายอย่าง อาทิ การจัดสรรงบประมาณส่วนใหญ่ จะใช้งบอยู่ที่ประมาณ 4.9 แสนบาท แต่ไม่มีการระบุปริมาณคิวดินที่ชัดเจน รวมถึงงานขุดบ่อธนาคารใต้ดินหลายจุด มีป้ายโครงการไม่ตรงกับพื้นที่จริง เช่นเดียวกับโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ ต.โพนทอง อ.บ้านแพง จ.นครพนม แต่ป้ายโครงการระบุ ต.บ้านแพง อ.บ้านแพง จ.นครพนม โดยถือว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทผู้รับจ้างส่วนใหญ่ จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาไม่กี่เดือน ก่อนอนุมัติโครงการ รวมถึงเป็นบริษัทผู้รับจ้างรายเดียวกัน แต่รับงานหลายโครงการ ถือว่าส่อทุจริต มีช่องว่างเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนที่เป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มผู้บริหาร ทั้งนี้ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่มีตัวแทนชาวบ้านส่งหลักฐานร้องเรียนให้กับทาง ป.ป.ช. จังหวัดนครพนม ตรวจสอบข้อเท็จจริง ป้องกันการทุจริต แสวงประโยชน์จากโครงการดังกล่าว