นครพนม ตัวแทนชาวบ้าน ส่งหลักฐานเพิ่ม เร่งรัด ป.ป.ช.สอบปมทุจริตโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน อบจ.นครพนม พบพิรุธอื้อ ป้ายโครงการระบุไม่ตรงพื้นที่ขุด ไม่มีปริมาณงานคำนวณคิวดิน ปักท่อพีวีซีกลางบ่อน้ำ ผิดหลักทฤษฎีธนาคารน้ำ หลังตกลงราคาจ้างแบบพิเศษ ไม่เกิน 5 แสนบาท ส่วนใหญ่ว่าจ้างในราคา 4.9 แสนบาท เชื่อปริมาณงานไม่ตรงกับการใช้งบ จี้สอบปมทุจริต ใช้เงินงบประมาณไม่คุ้มค่า ด้าน ป.ป.ช.เดินหน้าตรวจสอบข้อกล่าวหา กำหนด 30 วัน หากหลักฐานข้อมูลกล่าวหาชัดเจน เร่งสอบทุจริตทันที


เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครพนม เกี่ยวกับประเด็น ปมร้องเรียนสอบทุจริตโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึง อบจ.นครพนม ยังเป็นที่น่าสนใจของพี่น้องประชาชน หลังมีคนออกมาแฉ ร้องเรียน ให้สำนักตรวจเงินแผ่นดิน จ.นครพนม รวม ถึง ป.ป.ช.นครพนม ออกมาตรวจสอบ เชื่อว่า มีการส่อทุจริต โดยในส่วนของ อบจ.นครพนม ในปี 2565 – 2567 มีการจัดสรรงบประมาณ ดำเนินการขุดแล้ว กว่า 867 โครงการ รวมเป็นเงินงบประมาณ 433,500,000 บาท นอกจากนี้ การดำเนินการส่วนใหญ่ ทางแกนนำชาวบ้าน ตั้งข้อสังเกตว่า มีการตกลงราคาจ้าง โครงการละไม่เกิน 5 แสนบาท เชื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ นายทุน ผู้รับจ้าง เพื่อหวังค่าส่วนต่างจากโครงการ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญ ออกมาประมาณการเชื่อว่า ปริมาณงานไม่คุ้มค่า กับการใช้งบประมาณ นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการขัดหลักทฤษฎีขุดธนาคารน้ำใต้ดิน ไม่เกิดความคุ้มค่าในการดำเนินการ ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จริง

ล่าสุด ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรี พีรยุทธ ตั้งตระกูล ส.อบจ.นครพนม เขตอำเภอเมืองนครพนม ในฐานะตัวแทนชาวบ้าน ได้นำเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม เกี่ยวกับข้อพิรุธในการขุดโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน มอบให้ นายธันยพัฒน์ ประมวลวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครพนม เพื่อให้ ทาง ป.ป.ช. เร่งดำเนินการตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส หลังจากมีการยื่นเอกสารหลักฐานมาก่อนนี้แล้ว  

...

ทั้งนี้ ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรี พีรยุทธ ตั้งตระกูล ส.อบจ.นครพนม เขตอำเภอเมืองนครพนม ระบุว่า มีการยื่นเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้ทาง ป.ป.ช.ตรวจสอบ เนื่องจากลงพื้นที่ตรวจสอบ บางจุดพบว่ามีข้อพิรุธ ในการดำเนินการขุดบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน ยกตัวอย่างบางจุด เช่น โครงการขุดลอกธนาคารน้ำใต้ดินของ อบจ.นครพนม งบประมาณ 499,000 บาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 สิ้นสุดวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 แต่ป้ายโครงการระบุไม่ตรงกับพื้นที่ดำเนินการขุด บ่อพื้นที่จริงอยู่พื้นที่ บ้านดานสาวคอย หมู่ 12 ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม แต่ป้ายโครงการระบุ ที่พื้นที่บ้านซ่ง หมู่ 5 ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม นอกจากนี้ยังพบว่า ไม่มีข้อมูลระบุปริมาณงานคิวดิน ขนาดพื้นที่ดำเนินการ อีกทั้งมีการวางท่อพีวีซีกลางบ่อ ที่ผิดหลักทฤษฎีการขุดธนาคารน้ำใต้ดิน รวมถึงไม่มีการตรวจสอบรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านก่อนดำเนินโครงการ และมีการดำเนินการในพื้นที่ส่วนบุคคล ยืนยันการออกมายื่นข้อมูลให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบ ไม่ต้องการกล่าวหาใคร เป็นการ ปกป้องเงินภาษีประชาชน ให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ 

ด้าน นายธันยพัฒน์ ประมวลวิทย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า เกี่ยวกับขั้นตอนการตรวจสอบข้อร้องเรียน ปมทุจริตโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน หลังจากรับเรื่องร้องเรียน ตามขั้นตอนจะมีการตรวจสอบข้อกล่าวหา รวมถึงเชิญผู้กล่าวหามาสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อสรุปข้อมูลหลักฐานให้มีความชัดเจน ใช้เวลาดำเนินการภายใน 30 วัน หากข้อมูลถูกต้องตามกระบวนการกล่าวหา จะดำเนินการสอบทุจริตทันที โดยอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. จะเน้นการเอาผิดในเรื่องของการทุจริต ของผู้มีอำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงเอาผิดทางวินัย ทั้งนี้จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย