จำคุก 6 ปี “อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์” อดีต สส.มุกดาหาร คดีเรียกรับสินบน 5 ล้านบาทจาก “ศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์” อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล หลังองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยมติเสียงข้างมาก คุมตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯทันที
ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 9 ก.ค. ศาลนัดฟังคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อม. 4/2565 คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ.5/2567 กรณีอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ฟ้องนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต สส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ คดีเรียกรับสินบน 5 ล้านบาท จากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เมื่อครั้งนายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 กรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในโครงการขุดเจาะน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ คดีนี้ศาลฎีกาเคยพิพากษาจำคุกจำเลย 6 ปี และให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย.65 รวมทั้งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป ไม่ให้สิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆและเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้งเป็นเวลา 10 ปี ก่อนหน้านี้ศาลเคยลงโทษจำเลยฐานฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมมาแล้ว
คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่าพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบเพื่อทราบรายละเอียดว่าผู้ถูกร้องเรียน เป็นใคร ด้วยการสอบปากคำนายศักดิ์ดาเพื่อทราบข้อเท็จจริงพฤติการณ์แห่งคดี มิใช่เป็นการมุ่งเอาผิดจำเลย ที่คณะกรรมการไต่สวนไม่เรียกพยานหลักฐานที่จำเลยร้องขอก็ไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ตามรายงานสำนวนการไต่สวนมีการตรวจสอบ และรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพยานบุคคล 17 ราย และเอกสารหลักฐานต่างๆ 10 รายการ ถือเป็นการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น เพียงพอที่จะวินิจฉัยมูลความผิดของจำเลยแล้ว การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
...
ส่วนปัญหาที่ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติเสียงข้างมาก เห็นว่าคำเบิกความของนายศักดิ์ดา อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเป็นประจักษ์ พยานเพียงปากเดียว แต่นายศักดิ์ดาเบิกความถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่ได้พบมาตามลำดับขั้นตอนตั้งแต่การพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในระดับกระทรวงเรื่อยมาจนถึงระดับกรม ทำให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยในการตั้งข้อสังเกตและซักถามงบประมาณโดยเฉพาะของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาโดยตลอด มิได้มีลักษณะเป็นการตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐตามปกติ แต่เป็นการสร้างความกดดันและความกังวลให้แก่ผู้รับการพิจารณาว่าจะถูกตัดหรือลดงบประมาณหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองในการเเสวงหาผลประโยชน์ อันทำให้เห็นมูลเหตุจูงใจให้จำเลยโทรศัพท์หานายศักดิ์ดาผ่านการติดต่อของ เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2
ในคืนวันเกิดเหตุนายศักดิ์ดาและจำเลยใช้เวลาสนทนาครั้งแรกนาน 9 นาทีเศษ ใช้เวลาสนทนาครั้งที่สองนาน 6 นาทีเศษ สอดคล้องกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อความที่สนทนาโต้ตอบมีตั้งแต่การเรียกเงิน 5 ล้านบาท เมื่อนายศักดิ์ดาปฏิเสธก็เปลี่ยนมาเป็นของานแทน เพื่อแลกกับการไม่ตัดลดงบประมาณ มีลักษณะพูดต่อรองกันไปมา มีรายละเอียดมากยากที่จะแต่งเรื่องขึ้นมาให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะข้อความที่สนทนากันในเรื่องของานยังสอดคล้องกับการตั้งข้อสังเกตและซักถามของจำเลยในที่ประชุมมุ่งเน้นเฉพาะโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โดยอ้างว่า ที่จำเลยโทรศัพท์ติดต่อนายศักดิ์ดาขอแบบแปลนเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ทั้งที่ต้องดำเนินการผ่านผู้เกี่ยวข้องตามข้อบังคับการประชุมและแนวทางปฏิบัติที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อดำเนินการ ถือเป็น ข้อพิรุธไม่น่าเชื่อถือ
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เห็นว่า คดีนี้พยานฝ่ายโจทก์เบิกความไปตามความจริง พยานแวดล้อมของโจทก์ที่ใกล้ชิดต่อเหตุการณ์ย่อมสนับสนุนคำเบิกความของประจักษ์พยานให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น การที่จำเลยโทรศัพท์เรียกเงินหรือขอผลประโยชน์จากโครงการในการจัดทำงบประมาณของกรมทรัพยากร น้ำบาดาล เป็นการอาศัยโอกาสในตำแหน่งหน้าที่ ที่ตนมีอำนาจและหน้าที่สามารถเสนอปรับลดงบประมาณได้ ถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และเป็นการขอ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในตำแหน่งของจำเลย ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ม.173 และ ป.อาญา ม.149 อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษามานั้นองค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติเสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน ภายหลังศาลมีคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวนายอนุรักษ์ไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯตามคำพิพากษาทันที
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่