"อดีตผู้ว่าฯ โคราช" เสนอแนวทางยุติข้อพิพาท "เฉือนป่าทับลาน" กว่า 2 แสนไร่ ชงใช้มติ ครม.สมัย "ลุงตู่" ติงกรมอุทยานฯ "take side" ฝ่ายเดียวไม่เสนอความจริงสองด้าน ซัดหน่วยงานรัฐเขมือบไป-ต้องขย้อนคืนชาวบ้าน
จากกรณีข้อพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลาน ประกาศเขตอุทยานฯ ทับพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ต.ไทยสามัคคี ต.วังน้ำเขียว และ ต.อุดมทรัพย์ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา รวมกว่า 30,000 ไร่ โดยอุทยานแห่งชาติทับลานอาศัยประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ ปี 2524 ฟ้องร้องชาวบ้านในพื้นที่ แต่ถูกโต้กลับอาศัยประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ ปี 2543 ซึ่งได้ลงพื้นที่สำรวจและปักหมุดประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ เมื่อปี 2537 ขณะนั้นมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานร่วมเดินสำรวจ ล่าสุดทับลานขึ้นเทรนด์ทวีตอันดับ 1 ชาวเน็ตแห่ค้านแผนตัดป่ากว่า 2.6 แสนไร่ ร่วมรณรงค์ลงชื่อไม่เห็นด้วยกลัวเอกชนฮุบป่า กรมอุทยานฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 นายธงชัย ลืออดุลย์ อดีตผู้ว่าฯ นครราชสีมา เปิดเผยว่า ตนเคยดำรงตำแหน่งทางปกครองในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา พ.ศ. 2538 ในตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอวังน้ำเขียว พ.ศ 2539-2543 จึงทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมาต่อเนื่อง ซึ่งตนเห็นด้วยกับมติ ครม.วันที่ 14 มีนาคม 2566 สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี สอดคล้องกับความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา และคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเห็นชอบแนวทางการใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ในการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (One Map) จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์ และจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน รวมทั้งพื้นที่มรดกโลก โดยคำนึงถึงมิติทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอันเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงไม่รู้ตัวเองไปทำอะไรไว้ โดยพบหลักฐาน ที่ ต.ไทยสามัคคี วัดบุไผ่ ขึ้นทะเบียนขึ้นกับกรมศาสนา ปี 2480 และตั้งโรงเรียนบ้านไทยสามัคคี ปี 2517 บ่งบอกมีชุมชนอาศัยมาอยู่ก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตอุทยาน ยกตัวอย่างกฤษฎีกา 23 ธันวาคม 2524 กำหนดให้เป็นแนวเขตอุทยานทับลาน กฎหมายอุทยาน 2504 เขียนไว้ว่า ท้องที่ใดที่อุดมสมบูรณ์ สมควรสงวนหวงห้ามไว้เพื่อการศึกษาฯ เพื่อการรื่นรมย์ให้รัฐบาลออกกฤษฎีกากำหนดแนวเขตอุทยาน การกำหนดแนวเขตต้องมีเครื่องหมายประกาศแจ้งในพื้นที่เพียงพอ ให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ เกิดเป็นคำถามว่าในช่วงเวลานั้นได้ดำเนินการตามขั้นตอนหรือไม่ ที่ผ่านมาสาเหตุความไม่ชัดเจนของแนวเขตเกิดจากหน่วยงานรัฐ จึงเป็นปัญหาข้อพิพาทไม่รู้จบ
...
นายธงชัย กล่าวต่อว่า ช่วงที่ตนเป็นนายอำเภอวังน้ำเขียว มติ ครม.สัญจรครั้งแรกในประเทศไทย ที่ อ.วังน้ำเขียว วันที่ 22 เมษายน 2540 สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นเลขาฯ มีลักษณะตรงกับมติ ครม.วันที่ 14 มีนาคม 2566 แต่มีการแก้ไขมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 22 เมษายน 2540 ให้เหตุผลเกรงจะเป็นแบบอย่างกับพื้นที่อื่น สำหรับความคิดเห็นหากเป็นแบบอย่างได้ยิ่งดี พื้นที่ใดกรมอุทยานฯ ไปเขมือบพื้นที่มาต้องขย้อนคืนเขา ที่ผ่านมาให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนไขว้เขวกับสังคม กระทั่งคนในพื้นที่ยังมีความไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ตนเคยเป็นนายอำเภอวังน้ำเขียว เป็นหัวหน้าคณะทำงาน หัวหน้าแผนกจัดที่ดินทำกิน เลขาศูนย์กรณีผลักดันอุทยาน 7 ป่า อำเภอเสิงสาง ฯลฯ จึงทราบดีว่าข้อเท็จจริงคืออะไร ข้อสงสัยมติ ครม.วันที่ 30 มิถุนายน 2541 ที่ผ่านมาได้ทำตามนโยบายหรือไม่ เท่าที่ทราบไม่สามารถทำได้สักอย่าง 20 ปีที่ผ่านมา การพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินยังไม่คืบหน้า หากภาครัฐไม่เลือกหนทางที่เป็นจริง ไม่อาจแก้ปัญหาได้ แนวโน้มน่าจะขัดแย้งและรบกันไปอีกชั่วนาตาปี "รักป่า จนกระทั่งชาวบ้านถูกดำเนินคดีร่วม 500 ราย"
"กรุณาอย่าอ้าง สุดท้ายแล้วที่ดินจะไปตกกับนายทุน ไม่ใช่หน้าที่ของกรมอุทยานฯ โปรดอย่าทำเกินหน้าที่ การทำตามมติ ครม. คือหน้าที่ของกรมอุทยานฯ ท้ายสุดแล้ว ส.ป.ก.รับไปพิจารณาดำเนินการ หากผิดพลาดขั้นตอนหรือละเมิดกฎหมายประการใด เรามีกฎหมายและบทลงโทษรองรับอยู่แล้ว ตนไม่เห็นด้วยกับบุคคลที่ขาดคุณสมบัติครอบครองที่ดิน ส.ป.ก. การรับฟังความคิดเห็น #saveทับลาน เปิดลงชื่อคัดค้านอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.สระแก้ว ปรับแนวเขตใหม่พื้นที่ 265,000 ไร่ ถึง 12 กรกฎาคม 2567 ผ่านช่องทางออนไลน์ ต้องให้คนกลางหรือรับฟังความคิดเห็นร่วมกันระหว่างจังหวัด แต่กรมอุทยานฯ กระทำเช่นนี้เป็นการ take side ฝ่ายเดียวไม่เสนอความจริงสองด้าน ทั้งนี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ล่าสุด "เฉือนผืนป่า 265,000 ไร่" เป็นวลีที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงทั้งหมด แท้จริงแล้วหน่วยงานราชการต้องขย้อนคืนพื้นที่ให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะที่ ส.ป.ก.ได้เขมือบไปก่อนหน้านี้ ปัญหาความขัดแย้งยังมีหนทางจบลงด้วยดี เนื่องจากมติ ครม.วันที่ 14 มีนาคม 2566 อยู่ในคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และในความเห็นของ คทช.รวมถึงในความเห็นของอธิบดีกรมอุทยานฯ ตนยังรู้สึกดีใจที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ยังให้ความคิดเห็นตรงกับความเป็นจริง โดยกล่าวไว้ว่า "ไม่ได้เฉือนผืนป่าให้ใคร พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านไปหมดแล้ว" นายธงชัย กล่าว