ชาววังน้ำเขียวเดือด โต้อุทยานฯ ให้ข่าวบิดเบือนชี้นำสังคม หวังล้มเลิกแบ่งเขตอุทยานฯ ทับลาน One Map ตามมติ ครม. งัดหลักฐานยืนยัน ชาวบ้านมาอยู่ก่อนประกาศเขตอุทยานฯ ปี 2524


เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปยังบ้านไทยสามัคคี หมู่ 1 คุ้มคลองกระทิง ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ภายหลังจากมีประเด็นข้อพิพาทระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่ได้มีการประกาศเขตอุทยานฯ ทับพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี ซึ่งกินพื้นที่ไปทั้งหมด 3 ตำบล ได้แก่ ต.ไทยสามัคคี ต.วังน้ำเขียว และ ต.อุดมทรัพย์ ซึ่งเป็นพื้นที่กว่า 30,000 ไร่ โดยทางอุทยานแห่งชาติทับลานอาศัยประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ ปี 2524 ในการฟ้องร้องชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งทางชาวบ้านก็งัดหลักฐานโต้กลับ โดยอาศัยประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ ปี 2543 ซึ่งได้มีการลงพื้นที่สำรวจและปักหมุดประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ เมื่อปี 2537 โดยในเวลานั้นมีตัวแทนจากหลายหน่วยงานเข้าร่วมการเดินสำรวจในครั้งนั้น ทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่จากอุทยานฯ 

นายกิตฌพัฒน์ จ้ายนอก อายุ 42 ปี ชาวบ้านคุ้มคลองกระทิง บ้านไทยสามัคคี หมู่ 1 ต.ไทยสามัคคี หนึ่งในชาวบ้านที่ถูกฟ้องดำเนินคดี ได้พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ดูหลักเขตของอุทยานแห่งชาติ ที่ได้เริ่มเดินสำรวจและปักหมุดในช่วงปี 2537 ซึ่งถนนที่เดินทางไปนั้นจะเป็นถนนลูกรังที่ชาวบ้านในพื้นที่ใช้เดินทางไปทำการเกษตร โดยฝั่งขวามือนั้นจะเป็นเขตพื้นที่ของชุมชน ซึ่งมีชาวบ้านในพื้นที่มาทำการเกษตร ส่วนฝั่งด้านซ้ายมือนั้นจะเป็นฝั่งของอุทยานฯ ซึ่งหลังจากเดินทางไปประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากถนนไม่ไกลนัก จะเห็นหลักแสดงเขตพื้นที่ของอุทยานฯ ใกล้กันนั้นยังพบหลักแสดงพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ โดยหลักแสดงเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้นมาก่อน และหลักแสดงเขตพื้นที่อุทยานฯ นั้นทยอยตามมาภายหลัง โดยเริ่มมีการปักหลักในช่วงปี 2537 แต่อย่างไรก็ตาม จากการที่ทางอุทยานฯ ทับลานได้ใช้ประกาศของกรมอุทยานฯ ในปี 2524 นั้นก็ได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก

...


นายกิตฌพัตน์ เผยต่อว่า ตนและชาวบ้านในพื้นที่ตอนนี้นั้นได้รับผลกระทบจากประกาศปี 2524 ที่มีการประกาศทับพื้นที่ชุมชนทั้งอยู่อาศัยและการประกอบอาชีพ ซึ่งตนและชาวบ้านนั้นยืนยันอยากให้ทางอุทยานฯ นั้นใช้ประกาศของปี 2543 ที่มีการสำรวจและแก้ไขใหม่ตั้งแต่ปี 2537 โดยสภาพความเป็นจริงของพื้นที่นั้นเป็นชุมชนและเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีการประกาศปี 2524 โดยเริ่มมาอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงปี 2500 โดยมีหลักฐานการก่อตั้งหมู่บ้าน การตั้งโรงเรียนไทยสามัคคี และการตั้งวัดไทยสามัคคี ซึ่งก่อตั้งโดยทางกองทัพภาคที่ 2 โดยใช้ชื่อหมู่บ้านว่าไทยสามัคคี เพื่อเป็นการต่อต้านภัยคุมคามจากกลุ่มคอมมิวนิสต์ในสมัยนั้น โดยปู่ของตนนั้นได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี 2503 ก่อนที่จะสืบทอดต่อกันมาจนถึงรุ่นของตนคือรุ่นที่ 3 แล้ว 


นายกิตฌพัตน์ กล่าวอีกว่า ตนอยากเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่ถูกทางอุทยานฯ ประกาศเขตพื้นที่ทับพื้นที่ชุมชนกว่า 90 หมู่บ้าน รวม 5 อำเภอ ถึงแม้ว่ากระแสสังคมจะมองว่าตนและชาวบ้านในพื้นที่นั้นเป็นผู้บุกรุก ซึ่งเท่าที่เห็นนั้นส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์นั้น จะเป็นชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาแต่ก่อนแล้ว ส่วนนายทุนนั้นจะมีอยู่ประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เนื่องจากถ้าดูตามหลักฐานแล้วชุมชนนั้นมีอยู่มาก่อนที่อุทยานฯ จะประกาศเขตพื้นที่อุทยานฯ เสียอีก ซึ่งตนและชาวบ้านนั้นไม่ต้องการให้ออกเป็นโฉนดที่ดิน ขอแค่เพียง ส.ป.ก.เอาไว้อยู่อาศัยและทำกินเท่านั้นเอง


ด้าน นางปิ่นแก้ว เหิมขุนทด ชาวตำบลไทยสามัคคี ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ถูกทางอุทยานฯ ทับลานฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้คดีอยู่ในชั้นศาล เผยว่า ตนมีพื้นที่อยู่ประมาณ 4 ไร่กว่า ซึ่งรับมาจากพ่อที่ย้ายเข้ามาอยู่ประมาณปี 2500 ส่วนเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงนี้นั้นเป็นเอกสาร ภบท.5 ซึ่งตนก็มีหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่เรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2524 ได้มีการประกาศให้พื้นที่บริเวณตำบลไทยสามัคคีเป็นพื้นที่อุทยานฯ ต่อมาในปี 2555 ถูกอุทยานฯ ทับลานฟ้องร้อง ซึ่งปัจจุบันนี้ตนก็ยังคงต้องไปขึ้นศาล และจะไปขึ้นศาลอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายนนี้ ซึ่งจากการที่ถูกทางอุทยานฯ ทับลานฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น ส่งผลกระทบต่อตนเป็นอย่างมาก เนื่องจากหมดค่าใช้จ่ายในการไปจ้างทนายความเพื่อไปสู้คดี จ่ายค่าเดินทางไปขึ้นศาล รวมระยะเวลากว่า 12 ปี ตั้งแต่ถูกฟ้องตนเสียเงินไปแล้วหลายแสนบาท อีกทั้งยังได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีรีสอร์ตปิดตัวลง ชาวบ้านตกงานขาดรายได้ ซ้ำยังมาเจอปัญหาเศรษฐกิจอีก ทำให้ตอนนี้ตนมีความเครียดเป็นอย่างมาก ซึ่งอยากให้ทางรัฐบาลดำเนินการประกาศ ปี 2543 ซึ่งเป็นประกาศที่กันพื้นที่ชุมชนออกจากป่า เนื่องจากหลักฐานเอกสาร รวมไปถึงหลักที่แสดงเขตพื้นที่อุทยานฯ ปี 43 นั้น ก็แสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าชาวบ้านนั้นอยู่อาศัยมาก่อนอุทยานฯ จะประกาศเสียอีก

...


ขณะที่ นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง นายก อบต.ไทยสามัคคี กล่าวว่า จากกรณีที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้รับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในพื้นที่ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ตามมาตรา 8 ตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ ก็ทำให้ชาวบ้านรู้สึกตื่นตัวกันมาก เพราะเรื่องนี้จะเกี่ยวเนื่องกับมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 ซึ่งให้อุทยานฯ กันพื้นที่ออกตามแผนที่ one map แต่หลังจากที่ทาง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ ได้พยายามนำข้อมูลเพียงด้านเดียวมาให้ข่าวชี้นำสังคมให้เกิดความคล้อยตาม เพื่อไม่ให้มีการกันพื้นที่กว่า 2 แสนไร่นี้ ออกไปจากเขตอุทยานฯ นั้น ก็ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก เพราะความจริงนั้นการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เมื่อปี 2524 เป็นการประกาศเขตทับที่อยู่อาศัยของประชาชน จำนวน 97 ชุมชน ที่ตั้งรกรากอยู่มาก่อนนานแล้ว นับว่าเป็นการประกาศเขตอุทยานฯ ทับซ้อนชุมชนมากที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องนี้ทางอุทยานแห่งชาติ และนักอนุรักษ์ ต้องยอมรับก่อนว่าเป็นเรื่องจริง 


“การให้ข่าวของนายชัยวัฒน์ ทำให้เกิดการบิดเบือนจากความเป็นจริงดังกล่าว ทั้งนี้ เรื่องการกันเขตอุทยานฯ เคยมีมติ ครม.ออกมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 40 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 66 ซึ่งการจะมีมติ ครม.ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาอย่างดีแล้ว เพราะพื้นที่ที่มติ ครม.ให้กันออกไปกว่า 2 แสนไร่ ไม่มีสภาพความเป็นป่าหลงเหลืออยู่อีกแล้ว ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเมื่อปี 24 นั้น มีวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคง เพื่อต้องการควบคุมพื้นที่ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ดังนั้นจึงมีการเร่งรีบประกาศเขตอุทยานแห่งชาติออกมาจำนวนมากถึง 20 แห่งในปีเดียว โดยยึดตามภาพทางอากาศเป็นหลัก ไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ลงพื้นที่มาสำรวจอย่างทั่วถึงแต่อย่างใด ทำให้เกิดการทับซ้อนพื้นที่ชุมชนจำนวนมาก” นายก อบต.ไทยสามัคคี กล่าว

...


นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า สังเกตได้จากพื้นที่ ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว เดิมทีนั้นเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง ที่ทางกองทัพภาคที่ 2 ไปตั้งชุมชนไทยสามัคคีขึ้นมา และมีกระบวนการตั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 21 ก่อนที่จะมีการประกาศเขตอุทยานฯ ในปี 24 แต่ภายหลังมีการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวขึ้นมา บางจุดมีการทำเป็นรีสอร์ต ก็ทำให้เกิดการจับกุมดำเนินคดีต่างๆ จึงกลายเป็นข้ออ้างที่สำนักอุทยานแห่งชาติ นำมาเป็นเหตุไม่ยอมให้มีการกันพื้นที่ออกไป ซึ่งกระบวนการกันพื้นที่มีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนเสร็จแล้ว ถ้าไม่เชื่อชาวบ้าน ไม่เชื่อผู้นำอย่างตน ก็ไปดูข้อมูลของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งทำสรุปไว้อย่างละเอียดและดีมาก แต่ถ้ายังยืนยันว่าจะไม่กันออกมา ชาวบ้านก็จะถูกลิดรอนสิทธิ์ที่ทำมาหากิน เพราะจะทำอะไรก็ไม่ได้ ติดขัดข้อกฎหมายของอุทยานฯ ไปหมด ถึงแม้ว่าจะบอกว่ามีมาตรา 64 ของกฎหมายอุทยานฯ แต่เมื่อชาวบ้านจะไปไถที่ทำการเกษตร หรือจะปลูกบ้านเรือน ก็จะถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จ้องที่จะจับกุมดำเนินคดีต่อเนื่อง ถ้าตราบใดที่ยังเป็นเขตอุทยานฯ วิถีชีวิตของชาวบ้านก็จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน จึงขอความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านด้วย.

...