เสียงสะท้อนหมู่บ้านทับซ้อนผืนป่าทับลาน ชาวบ้าน ต.บ้านราษฎร์ อ.เสิงสาง ยันเดือดร้อนจริง เหตุประกาศพื้นที่ทับซ้อนทั้งตำบล เรียงหน้าวอนเห็นใจถูกประกาศพื้นที่อุทยานทับที่ดินทำกินทั้งตำบล หลังกระแส #Saveทับลาน ติดแฮชแท็กอันดับหนึ่ง 

เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 67 จากกรณีที่เกิดความเห็นต่างเกี่ยวกับกรณี "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" โพสต์เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี โดยจะต้องเสียพื้นที่เดิมที่มีอยู่ไปกว่า 265,000 ไร่ จนทำให้เกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ และกลายเป็นกระแสทำให้ #Saveทับลาน ติดแฮชแท็กอันดับหนึ่งในที่สุด 


ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังพื้นที่ ต.บ้านราษฎร์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่อยู่ในจุดที่มีประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียกับกรณีดังกล่าว เพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนบางส่วนที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นควรว่าจะมีการพิจารณาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เพื่อให้สิทธิที่ทำกินกับชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อนที่จะมีการประกาศพื้นที่อุทยานทับลานนั้น  

...


นายพรภิรมย์ กล้าหาญ อายุ 63 ปี หนึ่งในชาวบ้านทรัพย์เจริญ หมู่ที่ 4 ต.บ้านราษฎร์ เผยว่า ตัวเองอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งเดิมทียังเป็นชุมชนบ้านราษฎร์ ที่อยู่ในเขต ต.โนนสมบูรณ์ อ.เสิงสาง ก่อนที่จะได้แยกตัวออกมาเป็น ต.บ้านราษฎร์ และเป็นหมู่บ้านทรัพย์เจริญเมื่อปี พ.ศ. 2528 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งตอนนั้นชาวบ้านก็อาศัยทำกินบริเวณนี้กันอยู่ก่อนแล้ว ไม่ได้มีสภาพเป็นป่าไม้แต่อย่างใด จนกระทั่งเกิดปัญหากรณีกลุ่มผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง หรือคอมมิวนิสต์ และทางรัฐบาลในขณะนั้น ได้ประกาศจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่กลุ่มผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย หรือ ผรท. เมื่อปี พ.ศ. 2528 รายละ 15 ไร่ จากนั้นก็เกิดปัญหากรณีข้อพิพาทเรื่องของการประกาศพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานและพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชาวบ้านมาโดยตลอด กระทั่งในปี พ.ศ. 2543 ก็ได้มีการออกสำรวจแนวเขต เพื่อที่จะหาทางออกร่วมกัน เตรียมกำหนดแนวเขตที่ชัดเจน เพื่อให้สิ้นสุดปัญหา และได้มีการฝังหลักแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ที่ทำการสำรวจเอาไว้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และปัจจุบันแนวเขตดังกล่าวก็ยังคงตั้งอยู่ที่จุดเดิม สภาพพื้นที่ป่าก็ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ในขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านก็ยังใช้ทำกินกันอยู่เรื่อยมา โดยไม่มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมแม้แต่น้อย เพราะทุกคนต่างยึดเอาแนวเขตนี้เป็นแนวเขตของป่าอุทยานแห่งชาติทับลานและพื้นที่ทำกินโดยทั่วกัน


ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่จำนวนมากต้องอาศัยทำกินในพื้นที่ โดยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์อย่างแท้จริง อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องพิพาทกรณีการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนมาโดยตลอด ทำให้หมู่บ้านแห่งนี้เสียโอกาสและเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้ในด้านการพัฒนาหลายด้าน เพราะมีข้อจำกัดจากข้อระเบียบหลายส่วนของหน่วยงานรัฐ ทำให้ชาวบ้านแห่งนี้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือของหน่วยงานราชการ ซึ่งเมื่อมีการเตรียมนำเรื่องการเพิกถอนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานในส่วนที่เกิดปัญหายืดเยื้อมานาน ในฝั่ง จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ในครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะชาวบ้านแห่งนี้จะได้มีสิทธิในที่ดินทำกินของตัวเอง และได้สิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้เสียที  และยืนยันว่าชาวบ้านทรัพย์เจริญแห่งนี้เป็นชาวบ้านที่อยู่อาศัยทำกินด้วยความถูกต้อง ไม่ได้เป็นการบุกรุกพื้นที่ป่า หรือเป็นกลุ่มนายทุนอย่างแน่นอน ชาวบ้านอยู่มาก่อน สภาพก็เป็นที่ดินทำกิน ไม่ใช่เป็นสภาพป่าไม้อุดมสมบูรณ์ ฉะนั้นวาทกรรมที่พากันพูดว่า "เฉือนป่าทับลาน" นั้น ในพื้นที่บ้านทรัพย์เจริญแห่งนี้มันไม่ใช่

...


ด้านนายอาเขต แววกระโทก ผู้ใหญ่บ้านทรัพย์เจริญ กล่าวว่า บ้านทรัพย์เจริญ หมู่ที่ 4 ต.บ้านราษฎร์ แห่งนี้ ปัจจุบันมีราษฎรอาศัยอยู่จำนวน 240 ครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรที่ทางภาครัฐได้จัดสรรที่ดินทำกินเอาไว้ให้ ตามโครงการ พมพ. หรือโครงการจัดสรรที่ดินเพื่อความมั่นคง ในยุคคอมมิวนิสต์ ซึ่งในพื้นที่หมู่บ้านทรัพย์เจริญแห่งนี้ รวมถึงพื้นที่ ต.บ้านราษฎร์ ทั้งหมด ก็ถือว่าอยู่ในพื้นที่ที่มีการประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนที่ดินทำกินของชาวบ้าน โดยหากจะไล่เรียงก่อนหน้านั้น พื้นที่แห่งนี้เคยเป็นชุมชนบ้านราษฎร์ ท้องที่ ต.โนนสมบูรณ์ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2509 ก่อนที่จะมี ต.บ้านราษฎร์ ซึ่งแยกตัวออกมาจาก ต.โนนสมบูรณ์ และกลายมาเป็นหมู่บ้านทรัพย์เจริญ หมู่ที่ 4 ต.บ้านราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2525 จนถึงปัจจุบัน ล่าสุดมีพื้นที่ผู้ถือครองที่ดินทำกินในพื้นที่ทั้งในและนอกหมู่บ้าน รวม 588 ราย 884 แปลง เนื้อที่ประมาณ 7,250 ไร่ 


นายอาเขต กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาชาวบ้านทรัพย์เจริญแห่งนี้นั้น มีปัญหาในเรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ไม่มีความมั่นคงมาโดยตลอด เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิ ทำให้ขาดโอกาสในหลายๆ ด้าน อาทิ ในเรื่องของการกู้เงินลงทุนในการทำการเกษตร รวมถึงการช่วยเหลือของทางภาครัฐที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องของระเบียบทางราชการ ที่จะสามารถช่วยเหลือได้ในกรณีที่เป็นผู้มีเอกสารสิทธิอย่างถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เป็นต้น 

...