คนมีมาฝาก คนยากมากู้...สโลแกนนี้น่าจะใช้ได้กับสหกรณ์ลูกผสมอย่างสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการนครราชสีมา จำกัด

“สหกรณ์ของเราก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2522 เดิมเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สมาชิกจำกัดอยู่ในสังกัด อบจ.อย่างเดียว ต่อมาได้มีการหารือโดยผู้ว่าราชการในขณะนั้นเป็นประธานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอยากจะเพิ่มสมาชิกมาจากหน่วยงานที่หลากหลายขึ้นทั้ง อบจ. เทศบาล อปท. พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการนครราชสีมา จำกัด เมื่อปี 2545 มาจนถึงปัจจุบัน มีสมาชิกเกือบ 4,000 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 2,000 ล้านบาท”

นายสุริยะ ศักดิฐานนท์ รักษาการผู้จัดการสหกรณ์ฯ เล่าให้ฟังว่า ถึงรายได้หลักของสหกรณ์จะมาจากการปล่อยกู้แก่สมาชิก แต่ปัญหาที่ตามมา ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ หนี้เสีย ถึงแม้ปัจจุบันไม่ถึง 1% ยังอยู่ในเกณฑ์ที่นายทะเบียนกำหนด

แต่หากไม่เตรียมการล่วงหน้าหาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก อนาคตข้างหน้าอาจมืดมน หนีไม่พ้นหนี้เสียพุ่งแน่นอน

...

สหกรณ์จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมอาชีพ (เสริม) ให้กับสมาชิกประจำปี 2567 มุ่งเป้าไปที่ข้าราชการเกษียณแล้วและกำลังจะเกษียณ เพื่อจะได้มีอาชีพใหม่สร้างรายได้เพิ่มเติม แต่ไม่ปิดกั้นสมาชิกไปเพื่อที่ต้องการจะมีอาชีพเสริมหลังเลิกงานประจำ

ล่าสุดมีสมาชิกที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 95 ราย กระจายไปตามหลักสูตรต่างๆที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าหลักสูตรเสริมสวย (แต่งหน้า-ทำเล็บ) หลักสูตรการแปรรูปอาหารเชิงธุรกิจ (แหนมกระดูกหมู น้ำพริกสูตรต่างๆ) โดยมีวิทยากรมากประสบการณ์จากวิทยาเทคนิคนครโคราชมาถ่ายทอดองค์ความรู้ พร้อมฝึกปฏิบัติจริง

“สหกรณ์ตั้งงบไว้ 3 แสน จัดสรรจากส่วนที่เป็นสวัสดิการให้สมาชิกมาใช้ดำเนินโครงการนี้ เป็นค่าวิทยากร ค่าวัสดุอุปกรณ์และอื่นๆ เป็นงบของสหกรณ์เอง ซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้จัดสรรมาให้ การอบรมทุกหลักสูตรทุกอย่างฟรีหมด สมาชิกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ค่าพาหนะเราก็ให้ เพราะบางรายอยู่ไกล มีปัญหาทางการเงิน”

เริ่มโครงการมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ ทำให้มีสมาชิกบางรายสามารถนำความรู้ที่ได้จากการ อบรมไปประกอบเป็นอาชีพเสริมได้แล้ว หลักสูตรการแปรรูปอาหารเชิงธุรกิจการทำแหนมกระดูกหมู ที่อบรมไปเมื่อมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้มีออเดอร์จากลูกค้าเป็นจำนวนมากจนทำแทบไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรยอดฮิตการทำเกษตรไร่นาสวนผสม ภายใต้โครงการ “โคกหนองนาโมเดล” ที่ได้รับ ความสนใจจากสมาชิกสูงสุด จะมีการฝึกอบรมในเดือนนี้

“แต่ละหลักสูตรเรารับไม่เกิน 20 ราย สำหรับหลักสูตรไร่นาสวนผสมที่ได้รับความสนใจจากสมาชิกมาก สมัครเข้าถึง 80 ราย สมาชิกที่สมัครเข้าในแต่ละหลักสูตรส่วนใหญ่สมาชิกแต่ละคนจะทำกันอยู่แล้ว เพียงแต่มาต่อยอดองค์ความรู้เพิ่มเติม มีน้อยที่เริ่มต้นจากศูนย์ ส่วนเงินกู้ที่นำไปลงทุนนั้น ไม่สามารถกำหนดวงเงินได้ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงแต่ละราย สมาชิกบางรายที่กู้เกือบเต็มเพดานแล้ว หรืออย่างหลักสูตรไร่นาสวนผสม ถ้าสมาชิกรายใดสนใจกู้ สามารถนำที่ดินมาจำนองกับสหกรณ์ได้ จากนั้นทางสหกรณ์จะมีช่างเขียนแบบไปทำการออกแบบพื้นที่โครงการและประเมินงบประมาณให้”

...

รักษาการผู้จัดการสหกรณ์ฯยอมรับว่า การจัดทำโครงการนี้ขึ้นมาก็เพื่อเป็นช่องทางเพิ่มพูนรายได้ให้กับสมาชิก ด้วยการหาอาชีพเสริม ผ่านโครงการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือการดำรงชีพ พ.ศ.2567 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) เพื่อตอบโจทย์แผนพัฒนาสหกรณ์ระดับประเทศ 5 ปี นับเป็นอีกก้าวในการช่วยเหลือสมาชิกให้มีอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ นอกจากจะช่วยลดหนี้เสียของสหกรณ์ ยังจะทำให้สหกรณ์มีธุรกิจที่เข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับสมาชิกสหกรณ์อีกด้วย.

ชาติชาย ศิริพัฒน์

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม