ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เผยว่า อุตสาหกรรมน้ำปลาร้าไทยที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ตลาดน้ำปลาร้ามีมูลค่ารวมมากกว่า 1,000 ล้านบาท และมีการส่งออกกว่าปีละ 200 ล้านบาท แต่ในกระบวนการผลิตมีของเสียตามมา โดยเฉพาะกากปลาร้า มีไม่ต่ำกว่าปีละ 680 ตัน ส่วนใหญ่ถูกกำจัดโดยการฝังกลบ อันทำให้กากปลาร้าที่มีความเค็มและกลิ่นรุนแรง อาจรั่วไหลลงสู่ดินและแหล่งน้ำ ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะ

“ด้วยตระหนักถึงผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต ผู้ประกอบการธุรกิจน้ำปลาร้ารายใหญ่แบรนด์แม่บุญล้ำ จึงร่วมกับ ผศ.ดร.สมสมร แก้วบริสุทธิ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกากปลาร้าเหลือทิ้งของโรงงาน โดย บพข. และบริษัท ได้ร่วมสนับสนุนทุนวิจัยในครั้งนี้ ซึ่งทีมวิจัยได้คิดค้นเทคโนโลยีปรับปรุงกากก้างปลาร้าเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตในโรงงาน ให้สามารถนำมาผลิตเป็นผงแคลเซียม และผสมในน้ำปลาร้าได้อย่างเหมาะสม โดยไม่มีการตกตะกอน ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกากก้างเหลือทิ้ง และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภคในยุคสังคมผู้สูงอายุ”

...

ประธานอนุกรรม การแผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. เผยอีกว่า การวิจัยครั้งนี้ยังมีการนำกากปลาร้ามาผลิตเป็นซอสน้ำปลาร้าอเนกประสงค์จากกากข้าวคั่ว ที่เป็นเศษเหลือในกระบวนการผลิต สามารถใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายยิ่งขึ้น โดยมีการทดสอบรสชาติ และการยอมรับจากผู้บริโภค

พร้อมทั้งมีการศึกษาวิธียืดอายุน้ำปลาร้าอเนกประสงค์ให้สามารถเก็บได้ยาวนานขึ้น เพื่อรองรับการส่งออกต่างประเทศ รวมถึงการฆ่าเชื้อ และการปรับสภาวะความเป็นกรด-ด่าง ให้สามารถตอบรับกับความต้องการของผู้บริโภค ที่เป็นโครงการย่อยที่ 2 และโครงการย่อยที่ 3 นำกากปลาร้ามาผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยได้เริ่มทดลองศึกษากับพืชไร่จำพวก ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยทีมวิจัยได้พัฒนาสูตรน้ำหมักชีวภาพ ทำให้ได้น้ำหมักชีวภาพที่มีคุณภาพสูงขึ้น มีค่าธาตุอาหารหลักเทียบเคียง หรือสูงกว่ามาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์เหลว และให้ผลผลิตดีกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ปุ๋ยเคมีเพียงอย่างเดียว โดยโครงการนี้มุ่งเป้าให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 41,200,000 บาท และการใช้กากปลาร้าปีละ 222 ตัน.

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม