ในยุคการตลาดออนไลน์ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด วิโรจน์ สมรรถศรีบุตร กับ นิลรัตน์ วังพุทธ พร้อมกับเพื่อนๆนักการตลาดหัวก้าวหน้า ในนาม “ชมรมหนองคายมีเรื่องเล่า” จังหวัดหนองคาย ขับเคลื่อนโดยทำบันทึกข้อตกลงร่วมโครงการเว็บไซต์ดอทไทยเพื่อชุมชน ของ มูลนิธิศูนย์สารสนเทศเครือข่ายไทย สร้างแพลตฟอร์ม สื่อสารในระดับเวิลด์ไวด์เว็บ จังหวัดหนองคาย
“ปลาร้าปลาช่อน” ผลิตภัณฑ์จาก บ้านโคก ต.วัดหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย 1 ในสินค้าที่ถูกคัดเลือกเข้าสู่แพลตฟอร์ม หนองคายมีเรื่องเล่า.ไทย
นางโชติกา ศรีสุวรรณ อายุ 42 ปี ประธานกลุ่มแม่บ้านนางฟ้าปลาร้าบ้านโคก เล่าว่า “ความยากต้องยกระดับปลาร้าพื้นบ้านด้วยการใช้ปลาช่อนที่มีราคาสูงมาหมักปลาร้าด้วยเทคนิคพิเศษของกลุ่มใช้เกลือเกรด A ใช้รำข้าว กข.12 หนองคาย หมักไว้ 3-12 เดือน จนออกมาเป็นปลาร้าปลาช่อนในระดับพรีเมียม คือไม่เน่า ไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนปลาร้าพื้นบ้าน เนื้อปลาไม่เละ สร้างมูลค่าเพิ่มปลาร้าได้ราคาเท่าตัวค่ะ
ทางกลุ่มโชคดีได้ คุณหมอมิลค์ พญ.จิดาภา สุนทรธนากุล เจ้าของสวนเกษตรจิดาภา บ้านนาเจริญ สนับสนุนปลาช่อนที่บ่อส่งให้กลุ่มราคาถูก และยังขอจองซื้อผลผลิตปลาร้าปลาช่อนของกลุ่มอีกกว่า 100 กิโลกรัมค่ะ”
“อีก 3 เดือน ผลผลิตรุ่นแรกปลาร้าปลาช่อนที่หมักได้ที่ของ ต.บ้านโคก อ.โพนพิสัย จะเริ่มออกสู่ตลาดให้ลูกค้าที่สั่งจองได้ลิ้มรสกันทางกลุ่มฯรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ได้อนุรักษ์และยกระดับภูมิปัญญาการหมักปลาร้ารวมถึงได้ช่วยกันสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านกว่า 30 หลังคาเรือน ให้มีกินมีใช้นอกเหนือจากอาชีพทำไร่ทำนาที่มีรายได้ไม่แน่นอนต้องขอบคุณ ชมรมหนองคายมีเรื่องเล่า และ พญ.จิดาภา หมอมิลค์ ที่ช่วยส่งเสริมชาวบ้านให้มีช่องทางการตลาดอย่างยั่งยืน” นางโชติกา ประธานกลุ่มฯกล่าว
...
ปลาร้าปลาช่อน ต.บ้านโคก อ.โพนพิสัย คือการยกระดับปลาร้าพื้นบ้านเพื่อเป็นของฝากของดีของภาคอีสานเตรียมเข้าสู่แพลตฟอร์มระดับประเทศอย่าง หนองคายมีเรื่องเล่า.ไทย
ความฝันสูงสุดของผู้ผลิตคือ ปลาร้าปลาช่อน ระดับพรีเมียมจังหวัดหนองคาย ให้ได้รับเกียรติขึ้นเป็นหนึ่งในเมนูมิชลินไกด์ของประเทศไทยในอันดับต่อไป.
ทีมข่าวภูมิภาค รายงาน
คลิกอ่านคอลัมน์ "มองทั่วทิศเมืองไทย" เพิ่มเติม