“เทือกเขาภูแลนคา”...เป็นแนวเขา ที่ทอดตัวเป็นแนวยาว กินพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่อำเภอภูเขียว แก้งคร้อ เมืองชัยภูมิ เกษตรสมบูรณ์ หนองบัวแดง และอำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ทั้งยังเป็น “ป่าต้นน้ำ” สายหลักของภาคอีสานคือต้นน้ำแม่น้ำชี แม่น้ำลำปะทาว แม่น้ำน้อยใหญ่อีกมาก

ลักษณะเป็นพื้นที่ภูเขาสูงสลับซับซ้อน บางส่วนเป็นที่ราบเชิงเขาทุ่งหญ้า ป่าเต็งรัง ป่าดิบฝน จัดอยู่ในภูมิอากาศฝนเมืองร้อนมี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน จะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ฤดูฝน เกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน และช่วง ฤดูหนาว จะอยู่ระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคมของทุกปี

ที่ผ่านมาตลอดแนวเทือกเขาภูแลนคา ได้มีการแบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ประกอบไปด้วย... อุทยานแห่งชาติภูแลนคา อุทยานแห่งชาติตาดโตน เขตป่าอนุรักษ์ และป่าชุมชน นี่คือ “ผืนป่า”...ที่เป็นมากกว่าป่า แต่คือแหล่งหาอยู่ หากิน

เปรียบเป็น...ซุปเปอร์มาร์เกตชุมชนขนาดใหญ่ ที่สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชน

...

แน่นอนว่า...เมื่อมีการใช้ประโยชน์ ปัญหาต่างๆก็ตามมา โดยเฉพาะการเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ไม่สอดคล้องกับการอนุรักษ์และดูแลแหล่งอาหารของบางคน ซึ่งส่งผลกระทบโดยรวมต่อประชาชนในพื้นที่ที่มีความพยายามที่จะบริหารจัดการผืนป่าแบบมีส่วนร่วมและยั่งยืน

สาเหตุหนึ่งก็คือ การบุกรุกหาผลประโยชน์ของ “นายทุน” และ “นายพรานป่า” ที่เข้ามาล่าสัตว์ ทำให้เกิดภัยพิบัติ เช่น ไฟไหม้ป่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.2559

จนนำมาซึ่งการ “ห้าม” ใช้พื้นที่ป่าจากหน่วยงานภาครัฐ...

ไฟป่าครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้ผืนป่าจำนวนเกือบ 3,000 ไร่ รวมถึงการเกิดมลพิษทางอากาศ มีฝุ่นละออง ควันไฟ เต็มบริเวณพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ เช่น เกิดอาการแสบ คัดจมูก น้ำฝนใช้ไม่ได้

ถัดมาไม่กี่ปี...วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563 ป่าภูหลง เทือกเขาภูแลนคา บริเวณตำบลธาตุทอง ก็เกิดไฟป่าขึ้นซ้ำอีกครั้ง ว่ากันว่าความรุนแรงไม่น้อยกว่ากัน ต้นไม้น้อยใหญ่ตาย เสียหายไปมากกว่า 1,300 ไร่

เงื่อนปัญหาสำคัญกรณีการห้ามใช้พื้นที่ป่าจากหน่วยงานภาครัฐ ด้วยว่าพื้นที่ป่าภูหลงเป็นส่วนหนึ่งในป่าที่ต้องอนุรักษ์ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติและมีการห้ามประชาชนเข้ามาบุกรุก หรือผลประโยชน์ในพื้นที่ป่า...ทว่าบ้านตาดรินทอง หมู่ที่ 6 และบ้านตาดภูทอง หมู่ที่ 12 ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าผืนนี้

ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากิน เพื่อการดำรงชีวิต แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ห้ามไม่ให้เข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับคนในพื้นที่ โชคดีที่ได้รับการช่วยเหลือจาก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล วัดป่ามหาวัน ทำให้ความขัดแย้งดังกล่าวคลี่คลายยุติลง

คนในชุมชนจึงสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการกำหนดห้วงเวลาในการงดหรือห้ามเข้าไปหาของป่า เช่น หน่อไม้ เห็ดนานาชนิด ของคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้ผืนป่าได้ฟื้นฟูตัวเอง

โดยมีการตั้งด่านตรวจ จุดสกัด ของคณะกรรมการป่าชุมชนในแต่ละหมู่บ้าน เป็นประจำทุกปี

สราวุธ พันสาง
สราวุธ พันสาง

สราวุธ พันสาง เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ภูเขียว กรมป่าไม้ หรือ “พี่เต่า” หนุ่มผู้พิทักษ์ไพรลูกหลานชาวบ้านตาดรินทองที่เกิดมาพร้อมๆกับผืนป่าภูหลงที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายทางด้านชีวภาพแห่งนี้ เล่าให้ฟังว่า เริ่มต้นเข้ามาทำงานอาสาพิทักษ์ผืนป่าเมื่อปี 2548

ทำร่วมกับเพื่อนๆชาวบ้าน พบว่า งานพิทักษ์ที่เริ่มเป็นทางที่ต้องการและรักษ์ จึงเริ่มต้นทำงานอาสาพิทักษ์แบบเต็มตัวและสมัครเข้าสอบเป็นพนักงานพิทักษ์ป่าของกรมป่าไม้ จนได้บรรจุ...เข้าทำงานในพื้นที่

สภาพผืนป่าภูหลง และป่าในแนวเทือกเขาภูแลนคา ก่อนปี 2559 ที่จะเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ มีสภาพเป็นป่าดงดิบขนาดเล็กๆเป็นจุดๆ เข้าไปในป่าจะไม่โดนแดดเลย มีความดิบชื้น อุดมสมบูรณ์ พอเกิดไฟป่า ทำให้พื้นที่ดิบเหล่านั้น เหลือเพียงเศษซากแห่งเถ้าถ่านเท่านั้น...เห็นภาพป่าในความทรงจำแบบนี้เราถึงกับช็อก

...

ไพบูลย์ บุญโยธา
ไพบูลย์ บุญโยธา

ไพบูลย์ บุญโยธา รองปลัด รักษาราชการแทนปลัดเทศบาลตำบลธาตุทอง อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ บอกว่า เครือข่ายชาวบ้านชุมชนของพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เป็นพลังสำคัญให้มีการลุกขึ้นมาปลูกป่า ฟื้นฟู รักษาป่าต้นน้ำ ด้วยความมุ่งหมายที่จะทำให้ป่ากลับมามีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

แต่การทำงานจำเป็นจะต้องแสวงหาความร่วมมือ และแนวทางการขับเคลื่อนร่วมกันในทุกๆภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดการและดูแลรักษาป่าในเขตรับผิดชอบ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการร่วมวางแผน ร่วมกันออกแบบ กำหนดเป้าหมายทิศทาง...อย่างเป็นระบบ

ทำให้การทำงานเรื่องนี้ยังไปไม่ถึงเป้าประสงค์ จึงได้มีการทำบันทึกข้อตกลงกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรอบๆป่าภูหลง เทือกเขาภูแลนคา ในการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนร่วมกัน

“วางระบบน้ำบนแนวกันไฟ เชื่อมโยงให้เกิดระบบน้ำบนภูเขา” คืออาวุธสำคัญสู้ไฟป่า

...

เมื่อเราสร้างฝายชะลอและกักเก็บน้ำจากร่องเขา เกิดเป็นสระกักเก็บน้ำขนาดใหญ่เป็นจุดๆ ตามแนวร่องเขาเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนให้มารวมกันไว้เป็น “แหล่งน้ำต้นทุน” ปัจจุบันมี 4 แหล่ง และมีบ่ออยู่ 5 บ่อ ติดตั้งถัง 1,000 ลิตร พร้อมวางแนวท่อน้ำเป็นจุดๆ...มีระยะการกระจายน้ำครอบคลุม 1-2 กิโลเมตร

เมื่อก่อนมีปัญหานำน้ำจากด้านล่างเข้าไปดับไฟด้วยระยะทางที่ไกล ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์จึงมีการจัดวางถังกักเก็บน้ำกระจายออกไปเพื่อย่นระยะทางการลำเลียงน้ำขึ้นมา พร้อมๆกับสร้างท่อน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง...กระจายอยู่ทั้งแนวป่าด้านนอกและป่าชั้นในมากกว่า 30 ถัง ทำให้มีน้ำในการจัดการกับไฟป่าเพิ่มขึ้น

ขณะที่แนวป่าชั้นในหรือป่าโซนที่ยังคงมีความดิบชื้นสมบูรณ์อยู่ ก็วางแนวส่งน้ำด้วยท่อพีอีเข้าไปและติดตั้งสปริงเกอร์กระจายน้ำ พบว่า เป็นวิธีการที่ตอบโจทย์และมีประสิทธิภาพมาก แก้ปัญหาแรงงานที่ไม่เพียงพอต่อผืนป่าที่ค่อนข้างใหญ่มาก...ใช้คนน้อย รวดเร็ว บล็อกโซนป่าดิบอุดมสมบูรณ์ที่มีราว 821 ไร่ได้อย่างดี

นอกจากนี้ยังจัดตั้งจุดกระจายน้ำหรือสถานีเติมน้ำใส่รถดับเพลิง...อุปกรณ์ขนถ่ายน้ำอีก 6 สถานี โดยใช้ระบบกาลักน้ำถ่ายน้ำจากแหล่งน้ำบ่อกักเก็บน้ำต้นทุนจากที่สูงลงมายังที่ต่ำและตรวจสอบระดับน้ำอยู่เสมอ

ยุทธศาสตร์ วัชรธนาคม
ยุทธศาสตร์ วัชรธนาคม

...

ยุทธศาสตร์ วัชรธนาคม นายกเทศมนตรีตำบลธาตุทอง บอกว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนี้มาจากการประสานความร่วมมือกันเป็นเครือข่าย เกิดการแชร์ข้อมูลกัน...ทำงานภายใต้กรอบแนวทางเดียวกัน

ทำให้การขับเคลื่อนเรื่องป่าเกิดความรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมๆกับแผนงานเร่งด่วนเรื่องการพัฒนาคน อบรมจิตอาสาป้องกันไฟป่า เพื่อให้เกิดความรู้ ความชำนาญ...สามารถเผชิญเหตุได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส. ย้ำว่า เราสนับสนุนให้มีการดำเนินงานโครงการฯผ่านกระบวนการในการสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการเรียนรู้ และนำไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลง ผ่านการจัดการทรัพยากรและฟื้นฟูป่าภูหลง พุ่งเป้าไปที่ศักยภาพ...“เครือข่ายชุมชน”

บูรณาการการทำงานในพื้นที่ พัฒนา...ยกระดับขีดความสามารถของเทศบาลตำบลธาตุทองให้เป็น “ศูนย์จัดการเครือข่ายสุขภาวะชุมชน” ให้สามารถแก้ไขปัญหา จัดการความรู้ ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

“เทือกเขาภูแลนคาโมเดล”...สู้ไฟป่าเป็นอีกตัวอย่างพลังชุมชนที่เข้มแข็งยั่งยืนจับต้องได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม