ปลัดกระทรวงมหาดไทยเปิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด นำร่องเพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างพัฒนาการที่ดีของเด็ก โดยหวังให้เป็นต้นแบบกระจายไปทั่วประเทศเกิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ได้เป็นประธานเปิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้สนับสนุนการจัดสร้าง ซึ่งสนามเด็กเล่นนี้ เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ พื้นที่แห่งการสร้างพัฒนาการที่ดีของเด็ก โดยอาจารย์ดิสสกร กุนธร ประธานมูลนิธิสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ได้ศึกษาพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ "สมเด็จย่า" ผ่านหนังสือพระนิพนธ์ "แม่เล่าให้ฟัง" และ "เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์" ทำให้ได้เรียนรู้ว่า พระองค์ทรงเลี้ยงดูพระราชโอรสและพระราชธิดา ด้วยการให้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เล่นกับดิน ดูแลกันและกันกระทั่งพระโอรสองค์เล็กได้เติบโตเติบใหญ่เป็นมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีความเป็นเลิศด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของโลก คือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระโอรสพระองค์กลาง เป็นยุวกษัตริย์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระธิดาพระองค์โต คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผู้ทรงช่วยเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชาติไทย

ทั้งนี้ การพัฒนาคนในช่วงที่สำคัญที่สุด คือ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 7 ขวบ เพราะเป็นช่วงที่ไอคิวจะพัฒนาประมาณ 70-80% ทำให้มีเหตุมีผล สามารถตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งการที่เด็กจะมีไอคิวที่ดีได้นั้น อยู่ที่การเลี้ยงดู ทั้งอาหารการกิน การละเล่น การออกกำลังกาย โดยเฉพาะในเรื่องอาหารการกินที่จะส่งผลให้เด็กได้รับสารอาหารที่เหมาะสมกับวัย สอดคล้องกับที่ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ภริยานายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี ได้กล่าวกับแม่บ้านมหาดไทยภาคกลางและภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2567 ว่า ให้ส่งเสริมการบริโภคไข่ไก่อย่างน้อยวันละ 2 ฟอง โดยเฉพาะไข่ขาวเป็นแหล่งรวมโปรตีน มีประโยชน์ในการสร้างกล้ามเนื้อ จึงเป็นที่มาของการมีหนังสือแจ้งทุกจังหวัดให้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอได้ร่วมกับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนเลี้ยงไก่ไข่ รวมทั้งให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และทุกโรงเรียนได้จัดพื้นที่ให้เด็กได้เลี้ยงไก่ประจำตัว คนละ 2 ตัว เพื่อให้เด็กทุกคนได้บริโภคไข่ ไก่ เพราะเด็กต้องได้รับสารอาหารที่ดี ทั้งโปรตีนจากไข่ไก่ ควบคู่กับการปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร

...

ขณะเดียวกันการออกกำลังกายผ่านการละเล่นนั้น ก็เป็นสิ่งสำคัญจะทำให้เด็กมีโอกาสพัฒนาร่างกายจากการเล่น ดังสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงเลี้ยงพระราชโอรส พระราชธิดาทั้ง 3 พระองค์ให้เล่นดิน เล่นน้ำ เล่นทราย เล่นปีนป่ายอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งหากย้อนไปสมัยเรายังเด็กทุกคนต่างได้วิ่งเล่นบนหัวคันนา ช้อนปลากัด ดึงสายบัว เอาก้านกล้วยมาทำม้าวิ่ง ปั้นดิน ปั้นทราย เล่นขายของ เล่นซ่อนแอบ ซึ่งเป็นการเลี้ยงดูบุตรด้วยภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ โดย สนามเด็กเล่นสร้างปัญญานี้ ได้น้อมนำแนวทางการเลี้ยงดูบุตรของพระองค์ท่านและภูมิปัญญาบรรพบุรุษไทยประยุกต์ผ่านการสร้างฐานการเรียนรู้ในสนามเด็กเล่น อันจะทำให้เด็กเล็กให้มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ จิตใจ สังคมและวินัย เพราะจะทำให้เด็กได้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น ฝึกการมีสังคม การอยู่ร่วมกับคนในสังคม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การแบ่งปัน และทำให้มีพัฒนาการเจริญเติบโตที่ดี สมองมีการพัฒนาเรื่องความจำ ความคิดริเริ่ม การตัดสินใจ เพราะการที่เด็กปีนต้นไม้จะต้องฝึกจิตใจให้กล้าหาญ สมองต้องคิดตัดสินใจ เป็นต้น

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่อว่า ขอให้ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่นและแม่บ้านมหาดไทย ช่วยนำตัวอย่างที่ดีของสนามเด็กเล่นสร้างปัญญาแห่งนี้ ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในทุกตำบล หมู่บ้าน เพื่อจะได้ทำตามคำมั่นสัญญาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างทั่วถึง โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (UN SDGs) ที่ผู้ว่าฯ ได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกับหัวหน้าผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย 76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโลกนี้เพื่อเรา ทั้งนี้ สนามเด็กเล่นสร้างปัญญาต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น เพราะสนามเด็กเล่นดังกล่าว ทำได้เองด้วยการร่วมกันบริจาควัสดุอุปกรณ์ แรงงานก็สามารถรวมพลังคนในชุมชนโดยไม่ต้องจ้าง ถ้าช่วยกันสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา ความสุขของผู้ใหญ่อย่างจะเกิดทันที เพราะได้เห็นเด็กมีความสนุกสนาน ได้รับการพัฒนา และท้ายที่สุดพวกเราทุกคนจะได้มีความสุขที่ได้เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาเด็กไทยให้เติบโตเป็นคนไทยที่มีคุณภาพและมีความสุขอย่างยั่งยืน