ครูสาวเมืองหนองคาย เดินทางมายื่นหนังสือ ที่ สตภ.6 อุดรธานี ขอตรวจสอบเงิน Thai school lunch ย้อนหลัง เผยโครงการฯ อนุมัติเงินมา 27 บาท/คน ตกเดือนละ 2,484 บาท แต่หายหกตกหล่น โอนเงินมาให้ครูดูแลอาหารกลางวันเด็ก เพียง 1,400 บาท ส่งผลถึงอาหารและภาชนะใส่อาหารกลางวันเด็ก ไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงกำหนด
เวลา 11.00 น. วันที่ 30 มกราคม 2567 ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 6 (อุดรธานี) นายภานุมาศ จิตรวศินกุล หรือเฮียเปี๊ยก เจ้าของเพจเฮียเปี๊ยกช่วยด้วย นำนางสาวมีกวินท์ ป้องโลห์ หรือครูวิม อายุ 36 ปี ครูปฐมวัย โรงเรียนบ้านโคกแมงเงา อ.เมืองหนองคาย เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชาญเดช วีระกุล อายุ 59 ปี ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตภ.6) ขอให้ช่วยตรวจสอบเงินโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน โรงเรียนบ้านโคกแมงเงา หรือ Thai school lunch ย้อนหลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564-2566 ที่ไม่สอดคล้อง หรือตรงตามความเป็นจริงกับเงินที่โครงการฯ อนุมัติเงินมา 27 บาท/วัน/คน ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 90 คน รวมเป็นเงิน 2,484 บาท แต่โอนเงินมาให้ตน ซึ่งเป็นครูที่ดูแลอาหารกลางวันเด็ก เพียง 1,400 บาท โดยมีหลักฐานเป็นเอกสารค่าใช้จ่าย ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง สลิปการโอนเงิน คลิปวิดีโอ และภาพถ่าย ขณะเด็กนักเรียนนั่งกินข้าวในโรงอาหาร ที่อาหารและภาชนะไม่ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้
"ยกตัวอย่างเช่น ภาชนะที่ใส่อาหาร ส่วนอาหารจะเป็นผัดมาม่า ต้มมาม่า แกงไก่ มีเนื้อไก่และหมูน้อยมาก ของหวานบางวันก็จะเป็นขนมซองทั่วไป ที่ไม่ใช่ของหวานที่ทำให้เด็กได้รับประทานกันแบบร้อนๆ บางวันใบสั่งทำอาหารระบุ ให้ทำบะหมี่เกี๊ยว กับผลไม้แก้วมังกร แต่กลับกลายเป็นแกงเผ็ด บวดฟักทอง บางครั้งในใบสั่งทำอาหาร ระบุราคาหมูบด 8 กิโลกรัม แต่โอนเงินให้ซื้อ 4 กิโลกรัม ถือว่าการบริหารจัดการไม่โปร่งใส และเด็กนักเรียนก็ไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ และครบถ้วนตามวัย หลังจากเรื่องแดงขึ้น ตนก็อยู่ในโรงเรียนอย่างโดดเดี่ยว และขณะนี้ตนก็คิดหาทางขอย้ายไปสอนที่โรงเรียนอื่น เพราะถูกต่อว่าทำให้โรงเรียนเสื่อมเสียชื่อเสียง
...
ครูวิม เล่าต่อว่า หลังตนได้ร้องไปทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคายเขต 1 ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะกรรมการลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ในวันที่ 15 มกราคม 2567 จนทำให้ผู้บริหารโรงเรียน ปรับเปลี่ยนโครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียนให้ดีขึ้น และได้มาตรฐานแล้ว นับตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม 2567 เป็นต้นมา หลังจากนั้นตนถูกผู้บริหารโรงเรียน มีคำสั่งไม่ให้มายุ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีก
“ทางผู้บริหารโรงเรียนได้เพิ่มเงินค่าใช้จ่าย โครงการอาหารกลางวันเด็กนักเรียน จากเดิม 1,400 บาท เป็น 1,700 บาท และอ้างว่าส่วนเงินที่เหลือ ได้จ้างแม่ครัวและซื้อแก๊สหุงต้มมาประกอบอาหาร ซึ่งเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ดิฉันเพียงอยากให้เด็กๆ ได้มีอาหารที่มีประโยชน์ และมีคุณภาพเท่านั้น ไม่ได้มีอคติกับโรงเรียนและผู้บริหารแต่อย่างใด และอยากให้ตรวจสอบเงินค่าใช้จ่ายของโครงการนี้ย้อนหลัง ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับโรงเรียนอื่นๆ อีก”
ด้านนายชาญเดช วีระกุล ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน (สตภ.6) เปิดเผยว่า ทางสำนักงานมีระเบียบในการตรวจสอบเรื่องว่า เข้าตามหลักเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งจะมีการพิจารณาโดยเร็ว หากเข้าหลักเกณฑ์ ทางเราก็จะจัดทีมงานลงพื้นที่ไปตรวจสอบหาข้อเท็จจริง ดูว่ามีความผิดระดับไหน หากพบว่ามีมูลเข้าข่ายการทุจริต หรือทำผิดกฎหมาย จะส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. รับไปดำเนินการตามขั้นตอน