นางสาวอุษา โทณผลิน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 อุดรธานี (สศท.3) เผยถึงผลการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ของ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์โพนสวรรค์ จ.นครพนม กลุ่มแปลงใหญ่ที่มีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จในการผลิตข้าวอินทรีย์นอกเขตชลประทาน ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 มีเกษตรกรสมาชิก 63 ราย พื้นที่ปลูกรวม 996 ไร่

“มีการปลูกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 105 ผ่านการรับรองรองมาตรฐาน GAP ที่สำคัญกลุ่มแปลงใหญ่ได้มีการทำข้อตกลงซื้อขายผลผลิต (MOU) กับสหกรณ์ชุมชนเกษตรอินทรีย์นครพนม จำกัด ให้เป็นผู้รวบรวมผลผลิตส่งต่อไปยังสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ร้อยเอ็ด จำกัด ซึ่งเป็นตลาดรับซื้อข้าวอินทรีย์ที่ได้รับรองมาตรฐานอินทรีย์สากล ทั้ง Japanese Agricultural standards (JAS) ของประเทศญี่ปุ่น, National Organic Program (NOP) ของประเทศสหรัฐอเมริกา และ European Unity (EU) ของสหภาพยุโรป เพื่อส่งออกข้าวอินทรีย์ไปยังตลาดต่างประเทศ”

การผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 105 มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 5,043.54 บาท/ไร่/ปีได้ผลผลิตรวม 300 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 387.60 กิโลกรัม/ไร่/ปี ราคาขายข้าวเปลือกหอมมะลิอินทรีย์ ความชื้น 14- 15% อยู่ที่ตันละ 15,000 บาท หรือ กก.ละ 15 บาท โดยราคาขายจะสูงกว่าข้าวเปลือกหอมมะลิทั่วไป ร้อยละ 14 เนื่องจากการผลิตมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานของผู้รับซื้อ

...

เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 5,814 บาท/ไร่/ปี ได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 770.46 บาท/ไร่/ปี โดยผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 84 จำหน่ายให้กับสหกรณ์ชุมชนเกษตรอินทรีย์นครพนม จำกัด ร้อยละ 8 แปรรูปเป็นข้าวสารอินทรีย์เพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง อีกร้อยละ 8 เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน

ผอ.สศท.3 เผยอีกว่า ทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวอินทรีย์โพนสวรรค์ ยังมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิต ภัณฑ์ ข้าวอินทรีย์ด้วยการนำมาแปรรูปเป็นข้าวเม่า และแปรรูปเป็นข้าวพองธัญพืชและขนมเยลลี่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์และจัดจำหน่าย นอกจากนี้ได้พัฒนายกระดับกิจการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการเก็บเกี่ยวข้าวอินทรีย์ มีการใช้พลังงานแสง อาทิตย์ รถแทรกเตอร์ และเครื่องหยอดเมล็ด ทั้งนี้ กลุ่มแปลงใหญ่วางแผนขยายตลาดหรือเข้าสู่ตลาดใหม่ในประเทศผ่านช่องทางออนไลน์และการจัดบูธนิทรรศการ และเตรียมความพร้อมสำหรับดำเนินการขอการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลของกลุ่มเอง เพื่อสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในตลาดต่างประเทศได้.

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม