ช่วงฤดูฝนมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ แต่ไม่ได้รับประกันว่าในปีหน้าจะมีน้ำเพียงพอให้กับเกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชในช่วงหน้าแล้งได้อย่างถ้วนหน้า

เพราะปริมาณน้ำภายในแหล่งน้ำดิบหลายพื้นที่ยังคงตกอยู่ในภาวะวิกฤติ ปริมาณน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย แม้มีเขื่อนหรือระบบชลประทานที่ถาวรแล้ว ยังไม่สามารถจะทำการเกษตรได้ตามความพอใจ สถานการณ์เปลี่ยนได้ทุกเวลา

โดยเฉพาะ เขื่อนมูลบน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เป็น 1 ใน 4 เขื่อนหลักของจังหวัด ล่าสุดปริมาณน้ำภายในเขื่อนมีเพียง 86 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุทั้งหมดที่ 141 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุ

กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำ รวมถึงปลุกจิตสำนึกให้เกษตรกรใช้น้ำที่มีอยู่อย่างประหยัด.
กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำ รวมถึงปลุกจิตสำนึกให้เกษตรกรใช้น้ำที่มีอยู่อย่างประหยัด.

...

 คาดการณ์ว่าในปีหน้า ภาวะเอลนีโญ จะส่งผลรุนแรง ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยแล้งเลวร้ายกว่าทุกปี การสงวนน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นประเด็นหลักที่ต้องนำมาวางแผนบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องแรก

ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงเอาแน่เอานอนไม่ได้ กรมชลประทาน หาวิธีดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อปลุกความตระหนักให้กับเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ให้หันกลับมาใช้น้ำที่มีอยู่อย่างประหยัดและคุ้มค่าได้ประโยชน์สูงสุด

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน สร้างแปลงนาสาธิตนำวิธีการทำ “นาเปียกสลับแห้ง” ที่เกษตรกรเคยใช้กันในอดีตมาผ่านขั้นตอนการปรับปรุงด้วยความรู้ทางวิชาการสมัยใหม่

เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และนำมาเป็นแปลงนาต้นแบบให้เกษตรกรได้เรียนรู้และมีความเข้าใจว่าการใช้น้ำในการทำนาเท่าที่จำเป็น

ต้นข้าวภายในแปลงนาสาธิตเติบโตแข็งแรงแตกกอได้ดี มีความแข็งแรงสมบูรณ์ทนต่อการแพร่ระบาดของโรคและศัตรูพืช ให้ผลผลิตมากกว่าปกติไม่ต้องพึ่งสารเคมี.
ต้นข้าวภายในแปลงนาสาธิตเติบโตแข็งแรงแตกกอได้ดี มีความแข็งแรงสมบูรณ์ทนต่อการแพร่ระบาดของโรคและศัตรูพืช ให้ผลผลิตมากกว่าปกติไม่ต้องพึ่งสารเคมี.

นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูก เพิ่มคุณภาพและจำนวนผลผลิตของเกษตรกรได้ดีกว่าการใช้น้ำฟุ่มเฟือยอย่างมาก

นายณรงค์ มัดทองหลาง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน เปิดเผยว่า มีแนวคิดส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานได้ทำการเกษตรใช้น้ำน้อย เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจัดทำแปลงสาธิตการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง ภายในบริเวณแปลงสมาร์ทฟาร์ม

เป็นการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขัง สลับกับช่วงน้ำแห้งในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อรณรงค์ให้ชาวนาหันมาทำการเพาะปลูกด้วยวิธีนี้กันมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเมื่อมีโครงการชลประทานขึ้นมา ชาวนาพากันหันไปทำนาเปียกกันเกือบ ทั้งฤดูกาล ทำให้มีความจำเป็นในการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น

การทำนาเปียกสลับแห้งจะช่วยลดต้นทุนในการใช้น้ำได้ประมาณ 30-50 เปอร์เซ็นต์ และยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆของเกษตรกรได้อีกจำนวนมาก

เริ่มตั้งแต่เรื่องของเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพราะเทคนิคการทำนาเปียกสลับแห้งนั้น จะมีการเว้นระยะการให้น้ำ ทำให้ข้าวแตกกอได้ดี มีรากเยอะแข็งแรง ให้ผลผลิตมากกว่าปกติ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายณรงค์ มัดทองหลาง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน.
นายณรงค์ มัดทองหลาง ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน.

...

นายณรงค์ กล่าวต่อว่า จากการวิจัยเก็บข้อมูลการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ป้องกันปัญหาเรื่องโรคข้าวและแมลงศัตรูพืชได้เป็นอย่างดี เพราะในช่วงที่เว้นการให้น้ำหรือช่วงแห้ง ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นการให้น้ำแบบเปียกนั้น ต้นข้าวมีความแข็งแรงสมบูรณ์ทนต่อการแพร่ระบาดของโรค

จากนั้นจะมีการขยายผลจากแปลงสาธิตพื้นที่กว่า 10 ไร่ นำเกษตรกรเข้ามาทำการศึกษาเรียนรู้ ให้เห็นว่าได้ผลผลิตที่ดีกว่าและประหยัดต้นทุนกว่าจริง เพื่อให้เกษตรกรได้อุ่นใจและมั่นใจ

ก่อนที่จะนำไปต่อยอดในพื้นที่นำร่องในเขตชลประทานของโครงการ จำนวน 337 ไร่ ที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการต่อไป

แปลงนาสาธิต “ทำนาเปียกสลับแห้ง” ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน.
แปลงนาสาธิต “ทำนาเปียกสลับแห้ง” ต้นแบบสมาร์ทฟาร์ม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน.

...

นับเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดภาระต้นทุนการส่งน้ำของทางเขื่อนได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต อีกทั้งเทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้งนั้น ลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากถึงร้อยละ 75

หากใครสนใจศึกษาเรียนรู้สามารถไปชมและขอคำแนะนำได้ที่บริเวณแปลงสมาร์ทฟาร์ม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลบน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา รับรองไม่ผิดหวัง.

รณฤทธิ์ นวนครบุรี

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่