สทนช.เร่งเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำลุ่มน้ำชีตอนกลาง 7 จังหวัด "ภาคอีสาน" ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน-ลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 66 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ และ จ.ร้อยเอ็ด เพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 และ 3 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 เพิ่มเติม เพื่อรับสถานการณ์เอลนีโญ พร้อมแนวทางการบริหารน้ำและผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง มีพื้นที่รวม 12.85 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด และอุดรธานี เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งประสบปัญหาด้านน้ำหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ปัญหาการเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง ปัญหาฝนทิ้งช่วงทุกๆ ปี ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน เช่น การขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ทำให้ผลผลิตด้านการเกษตรตกต่ำ จากผลการศึกษาพบว่าปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมรวมกันไม่ต่ำกว่า 3,454 ล้าน ลบ.ม./ปี ปัจจุบันมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง 7.47 ล้านไร่ ขาดแคลนน้ำ จำนวน 522 ล้าน ลบ.ม./ปี แบ่งเป็น
น้ำด้านการเกษตร 519 ล้าน ลบ.ม./ปี และด้านอื่นๆ 3 ล้าน ลบ.ม./ปี

...

นอกจากนี้ยังพบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค เนื่องจากระบบประปาผิวดินและบาดาลของชุมชน มีปัญหาขาดแคลนน้ำดิบ ระบบผลิตประปาชำรุดเสียหาย และการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนปัญหาด้านอุทกภัย เกิดจากน้ำท่วมล้นตลิ่งและน้ำท่วมขัง อยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำชีและลำน้ำสาขา เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าความจุลำน้ำ และมีสิ่งกีดขวางการระบายน้ำ หรือได้รับผลกระทบจากท้ายน้ำที่มีระดับสูง จนไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทัน มีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำนวน 0.89 ล้านไร่ ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม 292 ล้าน ลบ.ม./ปี และปริมาณน้ำจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำชี 567 ล้าน ลบ.ม. รวม 859 ล้าน ลบ.ม. ความลึกน้ำท่วมเฉลี่ยประมาณ 1.20-1.76 ม. ยังรวมไปถึงปัญหาคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม ที่มีสาเหตุมาจากระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งน้ำเสียที่ปล่อยจากการทำการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ สทนช.ในฐานะหน่วยงานหลักจึงได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี สามารถแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ มีการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนรวมถึงภาคประชาชน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสร้างความมั่นคงด้านน้ำ

จากผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง จะมีแผนงานโครงการพัฒนาด้านน้ำทั้งหมดจำนวน 7,276 โครงการ มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,321 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.54 ล้านไร่ (ด้านภัยแล้ง พื้นที่ชลประทาน 0.67 ล้านไร่ พื้นที่รับประโยชน์ 0.67 ล้านไร่ และพื้นที่รับประโยชน์ด้านอุทกภัย 0.20 ล้านไร่) และมีพื้นที่ได้รับการบรรเทาปัญหาอุทกภัย 0.68 ล้านไร่ ประชาชน 531,774 ครัวเรือน และอื่นๆ ได้แก่ มีระบบประปาหมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพ มีแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคที่เพียงพอ ระบบนิเวศ ป่าต้นน้ำได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างเหมาะสม แบ่งออกเป็น 4 ระยะ (ปี 2566-2580) โดยดำเนินการตามลำดับความสำคัญให้สอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำในแต่ละด้าน

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณฝนสะสมทั้งประเทศ ตั้งแต่ 1 ม.ค. 66 ถึงปัจจุบันน้อยกว่าค่าปกติ ร้อยละ 15 และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือน้อยกว่าค่าปกติ ร้อยละ 8 สำหรับสถานการณ์น้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เขื่อนลำปาว (ความจุเก็บกัก 1,980 ล้าน ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำ 2,021 ล้าน ลบ.ม. (102%) และยังคงมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ปริมาณมาก ประกอบกับ
ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงวันที่ 26-28 ก.ย. 66 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณจีนใต้ตอนกลาง จะเคลื่อนเข้าสู่แนวร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่

จึงทำให้เขื่อนลำปาวจะปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันได จนถึงประมาณวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. (ปัจจุบันระบายอยู่ที่ 12.87 ล้าน ลบ.ม.) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติจึงได้ออกประกาศ ฉบับที่ 21/2566 วันที่ 25 ก.ย.66 ให้เฝ้าระวังและเตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำหลากบริเวณ อ.เมือง อ.ยางตลาด อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย และ อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ และอีก 4 อำเภอใน จ.อุบลราชธานี
สำหรับการลงพื้นที่ จุดที่ 1 บริเวณจุดบรรจบลำน้ำพองกับลำน้ำชีในเขต ต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยรุนแรงในปี 2554, 2560, 2564 และ 2565 โดยเฉพาะปี พ.ศ.2565 พื้นที่ ต.โพนงาม ประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่กว่าร้อยละ 95 ของตำบล และมีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานกว่า 2 เดือน สาเหตุมาจากการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ และทางตอนบนของลำน้ำชี รวมทั้งลำน้ำชีบริเวณดังกล่าวมีสภาพเป็นคอขวดทำให้การระบายน้ำได้ช้า โดย อบต.โพนงาม ได้เสนอแนวทางการแก้ไข คือ ในระยะสั้นบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดเตรียมเครื่องจักร วัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้ที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ การอำนวยความสะดวกในการรับ-ส่งนักเรียนกับประชาชนที่เดินทางไปทำงาน และการจัดเตรียมพื้นที่อพยพสัตว์เลี้ยงและอาหารสัตว์ เป็นต้น

...

ส่วนในระยะยาวขอให้พิจารณาประกาศพื้นที่ ต.โพนงาม และใกล้เคียงเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง พิจารณายกระดับถนนสาย บ.โพนงาม ม.12 ถึง บ.ดอนจำปา ม.7 ระยะทาง 8 กม. ให้สูงขึ้นเป็นเส้นทางสัญจรในฤดูน้ำหลาก และปรับปรุงท่อระบายน้ำให้สามารถระบายน้ำได้เพียงพอ ซ่อมแซมคลองส่งน้ำ-ท่อส่งน้ำและสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ชำรุดเสียหาย และขุดลอกหนองน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทำการเกษตร (นาปรังทดแทน) และอุปโภค-บริโภคประโยชน์ในฤดูแล้ง เป็นต้น
จากนั้นได้เดินทางไปยังห้องประชุมโครงการชลประทานมหาสารคาม เพื่อติดตามสถานการณ์ในพื้นที่พบว่า จ.มหาสารคาม มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ จำนวน 17 แห่ง ความจุ รวม 81.42 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวม 51.76 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63.50% มีปริมาณน้ำใช้การได้ 43 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52.80%
จุดที่ 3 ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำของแม่น้ำชี และอ่างเก็บน้ำที่สำคัญในลุ่มน้ำชีบริเวณเขื่อนวังยาง ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ มีดังนี้

...

1) เขื่อนมหาสารคาม (อ.โกสุมพิสัย) มีระดับเหนือน้ำ +146.90 (ม.รทก.) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.60 ม. ลดลงจากเมื่อวาน -0.01 ม. มีความจุเก็บกัก 24.00 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 24.50 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 102 % มีการระบายน้ำ 359.5 ลบ.ม./วินาที 2) สถานีวัดระดับน้ำ E91A (อ.โกสุมพิสัย) มีระดับเหนือน้ำ +145.17 (ม.รทก.) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 4.53 ม. ลดลงจากเมื่อวาน -0.96 ม. มีอัตราการไหล 349.60 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง
3) สถานีวัดระดับน้ำ E8A (อ.เมืองมหาสารคาม) มีระดับเหนือน้ำ +140.66 (ม.รทก.) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 3.15 ม. ลดลงจากเมื่อวาน -0.58 ม. มีอัตราการไหล 437.28 ลบ.ม./วินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง 4) เขื่อนวังยาง (จ.กาฬสินธุ์) มีระดับเหนือน้ำ +138.01 (ม.รทก.) ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.99 ม. ลดลงจากเมื่อวาน -0.29 ม. มีความจุเก็บกัก 33.59 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 45.84 ล้าน ลบ.ม. หรือ 136.5% มีการแขวนบานทั้ง 6 บานเพื่อระบายน้ำ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง สำหรับเขื่อนวังยางนั้น ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีกลาง มีแผนงานการปรับปรุงซ่อมแซมบริเวณเขื่อน การปรับปรุงทางน้ำและบานประตู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในฤดูน้ำหลาก 5) เขื่อนจุฬาภรณ์ (จ.ชัยภูมิ) มีปริมาณน้ำในเขื่อน 81.20 ล้าน ลบ.ม. หรือ 49.5% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 163.75 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 44 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34.77% ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 32 ล้าน ลบ.ม. มี ปริมาณน้ำ ไหลเข้าอ่าง 0.25 ล้าน ลบ.ม. และยังสามารถรับน้ำได้อีก 82.5 ล้าน ลบ.ม. หรือ 50.5% 6) เขื่อนอุบลรัตน์ (จ.ขอนแก่น) มีปริมาณน้ำในเขื่อน 1,390 ล้าน ลบ.ม. หรือ 57% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 2,431 ล้าน ลบ.ม. เหลือปริมาณน้ำใช้การได้ 809 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43% ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 400 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 29.5 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำวันละ 0.80 ล้าน ลบ.ม. และยังสามารถรับน้ำได้อีก 1,040.74 ล้าน ลบ.ม หรือ 42.81% 7) เขื่อนลำปาว (จ.กาฬสินธุ์) มีปริมาณน้ำในเขื่อน 2,021 ล้าน ลบ.ม.หรือ 102% ของปริมาณความจุอ่างที่ระดับน้ำเก็บกัก 1980 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำเกินความจุอ่าง 41 ล้าน ลบ.ม. หรือ 2.07% มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,921 ล้าน ลบ.ม. หรือ 97% ซึ่งมากกว่าปี 2565 จำนวน 41 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 20.33 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำวันละ 12.87 ล้าน ลบ.ม.

...

และจุดที่ 4 ได้เดินทางไปบริเวณ ปตร.กุดเชียงสา ต.ม่วงลาด อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการซ่อมแซมคันกั้นน้ำริมลำน้ำชีและการซ่อมแซม ปตร.กุดเชียงสาที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในปี 2565 ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2566 เมื่อดำเนินแล้วเสร็จมีพื้นที่รับประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย และป้องกันพื้นที่การเกษตรจากปัญหาอุทกภัย และเป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร ในฤดูแล้งของเขตพื้นที่ ต.ท่าตูม อ.เมือง จ.มหาสารคาม และ ต.ผักแว่น อ.จังหาร จ.ร้อยเอ็ด

นอกจากนี้ รองเลขาธิการ สทนช. ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตาม 12 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี 66 และ 3 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญอย่างเคร่งครัด และกำชับทุกหน่วยงานเตรียมแผนการรับมือ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทันกับสถานการณ์