"โคราช" พบไข้เลือดออกและโรคมือเท้าปากระบาดเพิ่มขึ้น เผย 8 เดือน ป่วยไข้เลือดออกกว่า 1,700 คน-เสียชีวิต 1 ราย ขณะที่โรคมือเท้าปากพบป่วยเกือบ 500 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก สนง.ป้องกันควบคุมโรคที่ 9 เตือนชุมชน-สถานศึกษา เร่งป้องกันด่วน

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 66 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกใน 4 จังหวัดพื้นที่ดูแล ได้แก่ จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ ว่า ยังคงน่าเป็นห่วง โดยช่วงฤดูฝนปีนี้มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย สัปดาห์ที่ 35 คือ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 ส.ค. 66 พบผู้ป่วยสะสม 73,979 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 76 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุด คือ อายุ 15-24 ปี รองลงมาคือ 10-14 ปี และ 25-34 ปี ตามลำดับ

ขณะที่สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในเขตสุขภาพที่ 9 รายงานสัปดาห์ที่ 35 คือ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 ส.ค. 66 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 5,603 ราย และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย กลุ่มอายุที่ป่วยมากสุดคือ อายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ 5-9 ปี และ 15-24 ปี ตามลำดับ เมื่อแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วยมากสุด 2,084 ราย มีผู้เสียชีวิต 2 ราย รองลงมาคือ จ.นครราชสีมา พบผู้ป่วย 1,743 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย จ.ชัยภูมิ พบผู้ป่วย 928 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และ จ.บุรีรัมย์ พบผู้ป่วย 848 ราย มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

...

จึงขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก, เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ และเก็บขยะในบ้านและโรงเรียน อย่าให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยหากมีอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา หน้าแดง กระหายน้ำ หรือมีจุดเลือดออกที่ลำตัว และแขน ขา ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ควรรีบไปพบแพทย์เข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อทำการรักษาโดยเร็ว

นอกจากนี้ ในเขตสุขภาพที่ 9 มีแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็กที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก มีการทำกิจกรรมรวมกลุ่ม ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งโรคนี้เกิดได้ตลอดทั้งปี แต่จะเพิ่มมากในช่วงฤดูฝน โดยรายงานสถานการณ์โรคมือเท้าปากในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 15 ส.ค. 66 พบผู้ป่วย 32,494 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดในอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือ อายุ 5 ปี และอายุ 7-9 ปี ตามลำดับ ส่วนสถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 19 ส.ค. 66 พบผู้ป่วยสะสม 3,041 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งโดยสถานการณ์โรคในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือระหว่างวันที่ 25 ม.ย. 66 - 19 ส.ค. 66 พบผู้ป่วย 1,454 ราย เมื่อแยกเป็นรายจังหวัดพบว่า จ.นครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด 495 ราย, จ.สุรินทร์ มีผู้ป่วย 467 ราย, จ.ชัยภูมิ มีผู้ป่วย 275 ราย และ จ.บุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 217 ราย โดยพบมากที่สุดในเด็กเล็กอายุ 2 ปี รองลงมาคือ อายุ 3 ปี และอายุ 1 ปี ตามลำดับ

จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูกหลาน ส่วนผู้ดูแลเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนอนุบาล ขอให้คัดกรองและสังเกตอาการของเด็กก่อนเข้าเรียน โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี หากเด็กมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เจ็บปาก ร่วมกับมีอาการตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า หรือตุ่มแผลในปาก ควรแยกเด็กป่วยไม่ให้คลุกคลีกับคนอื่นๆ และแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน หากอาการไม่ดีขึ้นให้พาไปพบแพทย์โดยเร็ว ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422