ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น เผย วิกฤติน้ำนมดิบขาดแคลนตอนนี้ เหตุจากผู้เลี้ยงแบกรับต้นทุนไม่ไหวเลิกไปหลายราย วอนเร่งตั้งรัฐบาลมาแก้ปัญหา ที่ยังเหลือตอนนี้ เฝ้ารอปรับราคาน้ำนมดิบ 21.25 สตางค์ต่อ กก.จากมติมิลค์บอร์ด แต่เรื่องเงียบหลังยุบสภา ทำให้ไม่ชัดเจน
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์ของน้ำนมดิบของ จ.ขอนแก่น ภายหลังเกิดสถานการณ์น้ำนมดิบขาดแคลน ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าต่างๆ นมสดพร้อมดื่มไม่มีจำหน่ายเช่นเดิม โดยผู้ประกอบการหลายร้านต่างบอกว่า ช่วงนี้น้ำนมดิบขาดแคลนหนัก โดยในส่วนของราคาน้ำนมดิบ รับซื้ออยู่ที่ 19 บาท ต่อกิโลกรัม บวกลบตามคุณภาพของน้ำนม ส่วนราคาจำหน่ายอยู่ที่ 20.50 บาทต่อกิโลกรัม
ขณะที่จำนวนสมาชิกของสหกรณ์โคนมขอนแก่นจากเดิมที่เคยส่งน้ำนมดิบให้จำนวน 147 รายแต่ล่าสุดเหลือเพียง 109 รายเท่านั้น โดยในส่วนสมาชิกที่หยุดส่งให้กับสหกรณ์โคนมขอนแก่นนั้น เนื่องจากแบกรับต้นทุนการผลิตไม่ไหวทั้งเจอโรคระบาดที่เกิดขึ้น อีกทั้งอาหารเลี้ยงสัตว์ปรับราคาขึ้นสูงถึง 40% โดยจากเดิมที่สหกรณ์โคนมขอนแก่นรับน้ำนมจากสมาชิกเฉลี่ยวันละ 3,500 ตันต่อวัน เหลืออยู่เพียง 2,600 ถึง 2,700 ตันต่อวัน
...
ในขณะที่ มติมิลค์บอร์ด ได้ประชุมมีมติร่วมกันให้ปรับราคาน้ำนมดิบ ซึ่งการปรับนั้น มีการอ้างอิง ข้อมูลจากในหน่วยงานต่างๆ หลายส่วน ซึ่งจะวิเคราะห์ต้นทุนต่างๆ จึงมีมติจาก ราคาน้ำนมดิบจาก 19 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 21.25 สตางค์ และได้มีการส่งเรื่องให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยื่นเสนอตามขั้นตอนไปแล้ว เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และมีการยุบสภาหลังจากยื่นขอปรับขึ้นราคาน้ำนมดิบและเรื่องก็ยังคงค้างอยู่ที่กระทรวง เพื่อรอเห็นชอบ
นายคำพันธ์ ไชยหัด ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมการเลี้ยงวัวนมของทางสหกรณ์เข้าขั้นวิกฤติ เนื่องจากมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมเลิกเลี้ยงไปหลายราย จากการประชุมทั่วประเทศที่ผ่านมาที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมส่วนใหญ่เจอปัญหาเดียวกัน คือทำแล้วขาดทุน ณ เวลานี้ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมยังคงทำอยู่ เนื่องจากยังรอความหวังจากรัฐบาลใหม่ หวังว่าจะดีขึ้น ที่ต้องรอเพราะการกำหนดราคาน้ำนมดิบจะต้องผ่านการเห็นชอบจากทางรัฐบาลก่อน ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์ต่างๆ อีกมากมายหลายปัจจัย โดยล่าสุดเมื่อ 14 มี.ค. 64 ก่อนยุบสภา ได้มีการปรับน้ำนมขึ้น 2 บาทกว่า และมีการเสนอให้ปรับขึ้นราคาแต่ถูกยุบสภาและเรื่องยังค้างอยู่ จึงเป็นสาเหตุที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมต้องรอ หากการปรับราคาน้ำนมดิบขึ้น ก็เชื่อว่าจะสามารถทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมสู้ต่อได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องปรับราคานมโรงเรียนตามไปด้วย ซึ่งเรามีบทเรียนมาแล้วช่วง ตุลาคม 65 มีมติปรับขึ้น 50 สตางค์ แต่ไม่ได้ปรับในส่วนของนมโรงเรียน ต้องแบกรับต้นทุนในส่วนต่างที่ปรับขึ้นถึงถุงละ 31 สตางค์
“ในระยะเวลา 3 เดือนเราขาดทุนไปกว่า 2 ล้านบาท หากมีการประกาศขึ้นราคาตามมติมิลค์บอร์ดที่ยื่นไปเมื่อ 14 มี.ค. 64 หากผ่านการเห็นชอบก็จะช่วยเกษตรกรได้อีกระดับหนึ่ง การปรับราคานั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่อยากให้มีการควบคุมราคาวัตถุดิบด้วย โดยเฉพาะวัตถุดิบที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเราเองก็มีการช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับสมาชิกโดยเฉพาะการปรับลดกำไรในส่วนของวัตถุดิบต่างๆที่เรานำเข้ามา ซึ่งจะคิดกำไรอยู่ที่ร้อยละ 3 บาทก็ปรับลดเหลือร้อยละ 2 บาท พร้อมทั้งหาแหล่งเงินทุนมาหมุนเวียนในฟาร์มชะลอการเลิกเลี้ยงของเกษตรกร และแนวโน้มสมาชิกตอนนี้ยังรอดูท่าทีทีมเศรษฐกิจรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะมีแนวทางอย่างไรในการช่วยเหลือเกษตรกร ที่เกี่ยวเนื่องกับอาหารสัตว์หรือต้นทุนต่างๆ" ประธานสหกรณ์โคนมขอนแก่น จำกัด กล่าว
...
นายคำพันธ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ บอกตามตรงว่าเกษตรกรต้องการเลิกเลี้ยงหลายคน ทั้งราคาวัวตกต่ำ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่กล้าขาย ทำได้เพียงประคับประคอง หากราคาวัวดีขึ้นก็อยากขายและเลิกเลี้ยง แต่หากราคาน้ำนมดิบดีขึ้นก็จะช่วยบรรเทาได้ ตอนนี้น้ำนมดิบขาดแคลนในรอบหลายสิบปี ปีนี้ราคาน้ำนมดิบตกต่ำมาก ปี 65 3,500 ตันต่อวัน ปัจจุบัน เหลืออยู่ที่ 2,600-2,700 ตันต่อวัน ลดลงมาก โดยจากการพูดคุยกับสหกรณ์โคนมที่ต่างๆ ก็ประสบปัญหาน้ำนมขาดแคลนเท่ากัน จึงได้จัดหาในส่วนนม UHT มารักษาสิทธิ์ของ อสค.”
...
ด้าน นางบุญเรียน บุตรโคตร อายุ 56 ปี ชาวบ้าน ม.20 บ้านซำจาน ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ขอนแก่น 1 ในสมาชิกของสหกรณ์ฯ ที่จำใจขายวัวนมที่สร้างอาชีพสร้างรายได้หลักให้กับครอบครัว กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องจำใจขายวัวเลิกเลี้ยงนั้น มาจากการที่อาหารสำหรับเลี้ยงมีการปรับราคาขึ้นทุกสัปดาห์ ไม่มีเงินเลี้ยงให้ได้คุณภาพของสหกรณ์ที่รับซื้อ เนื่องจากต้องดูส่วนประกอบต่างๆ ไม่ใช่แค่น้ำนมดิบ เพราะจะมีค่าไขมัน ค่าข้อมูลอื่นๆ อีกมากมายถึงจะได้คุณภาพตามที่สหกรณ์ต้องการ แม้ว่าสหกรณ์มีเงินช่วยเหลือ แต่ก็ไม่อยากเป็นหนี้ เพราะนมถ้าเราไม่มีคุณภาพก็ไม่ได้ราคา ตอนนี้ยังอยากเลี้ยงเหมือนเดิม ทุกอย่างมีเพราะการเลี้ยงวัว แต่ทนแบกรับต้นทุนไม่ไหว ราคานมก็ตกต่ำ แม้แต่ฟาง ก้อนละ 25 บาท ตอนนี้ราคาขึ้นก้อนละ 30-40 บาท จึงตัดสินใจไปกู้เงิน ธ.ก.ส.มาทำไร่มัน
1 ในสมาชิกของสหกรณ์ฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนลูกหลานก็ไม่อยากทำเพราะว่าทำแล้วไม่ได้เงิน ก็ไปทำงานอย่างอื่น ตอนนี้ต้องรอดูเศรษฐกิจ อยากให้มีรัฐบาลไวๆ จะรอดูว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรเลี้ยงวัวนมอย่างไร จึงชะลอการเลี้ยง หากเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะกลับมาทำเหมือนเดิม ที่ผ่านมามีการหยิบยืมเงินมาทำฟาร์มโคนม ตามมาตรฐานการเลี้ยง จึงจะสามารถเลี้ยงได้ และการให้อาหารการเลี้ยงดู ต้องเลี้ยงตามขั้นตอนที่ทางสหกรณ์แนะนำ เพื่อให้ได้น้ำนมดิบตามคุณภาพจะได้ขายได้ราคา ก็ต้องใช้วัตถุดิบอย่างดี ต้นทุนต้องใช้ตามคำแนะนำจึงจะได้น้ำนมดิบคุณภาพราคาตามที่ประกาศ.
...