บุคลากรทางการแพทย์ร้อง รพ.รัฐสร้างอาคารกำจัดขยะติดเชื้อใจกลางเมืองขอนแก่น กลิ่นโชย เหม็นมากจนอาเจียน ผู้อาศัยในแฟลตรับผลกระทบ หวั่นระยะยาวจะเป็นมะเร็ง ด้านรพ.ชี้แจง เป็น "วิธีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ" ถูกต้องตามกฎกระทรวง เพียงแต่พบเหตุรำคาญเรื่องกลิ่นกับผู้พักอาศัยฯ ซึ่งได้ดำเนินการแก้ไขแล้ว 

ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก เจ้าหน้าที่ และบุคลากรทางการแพทย์ที่อาศัยในแฟลตกระดังงา ที่พักของบุคลากรทางการแพทย์ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ร้องเรียนขอ ตรวจสอบกลิ่นที่โชยออกมาจาก อาคารกำจัดขยะติดเชื้อ รพ.ขอนแก่น ซึ่งตั้งห่างจากแฟลตเพียง 1 เมตร ที่ส่งกลิ่นเหม็นจนอาเจียน เวียนศีรษะ แสบคอ ได้ร้องไปที่รพ.ขอนแก่น แต่ไม่สามารถแก้ไขให้ได้ ต้องการให้หยุด หรือย้ายออกไปให้ห่างจากที่อยู่อาศัยของคน เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพจากขยะติดเชื้อที่ผ่านการใช้งานในโรงพยาบาลขอนแก่น โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ หวั่นเป็นมะเร็งในอนาคต 

เวลา 13.00 น. วันที่ 22 ก.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปพบกับผู้ร้องเรียนที่แฟลตกระดังงา เลขที่ 195/56 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น พบกับนางพรประภา เคนแสนโคตร อายุ 49 ปี อาศัยที่ห้องเบอร์ 5 ของแฟลตดังกล่าว พาสื่อมวลชนเดินในห้องและบริเวณแฟลตที่พักอาศัย พบว่า อาคารกำจัดขยะของโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งตั้งอยู่ติดกันประมาณ 1-3 เมตร มีรั้วกำแพงกั้น พบว่ามีถังขยะสีแดงตั้งเรียงกันอยู่ข้างตัวอาคารจำนวนมาก และยังพบเจ้าหน้าที่นำถังขยะติดเชื้อถังสีแดงมาพักไว้รอการกำจัดภายในอาคาร มีปล่องสำหรับปล่อยไอเสียออกมา เหนือจากอาคารปล่อยควันลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า 

...

นางพรประภา กล่าวว่า ปล่องไอเสียจะไม่มีควันออกมา แต่จะมาในรูปแบบของกลิ่นเหม็นไหม้ของขยะที่ไม่ใช่ขยะทั่วไป เป็นกลิ่นแปลกๆ ไปจากขยะที่โดนเผาทั่วไป มีกลิ่นคาว เหม็นเวียนศีรษะ แสบคอ แสบจมูก ต้องใส่หน้ากากอนามัยทันที ทั้งที่อยู่ในบ้านพักส่วนตัว และมีขยะติดเชื้อต่างๆ ที่จะเป็นอันตรายหากไปสัมผัสหรือมีการสูดดมเข้าไป

"ถังขยะสีแดงนั้น ทุกคนจะทราบดีว่าเป็นถังขยะอันตราย ขยะที่มีสารเคมีและขยะติดเชื้อต่างๆ ที่จะเป็นอันตรายหากไปสัมผัสหรือมีการสูดดมเข้าไป และยิ่งมีกระบวนการกำจัดขยะโดยตั้งเป็นอาคารขึ้นมาอยู่หลังที่พักยิ่งรู้สึกกลัวจะกระทบกับสุขภาพถึงขั้นเป็นมะเร็งได้ในอนาคต จึงได้ออกมาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน เพราะก่อนหน้านี้เคยร้องเรียนไปแล้วหลายครั้ง ที่โรงพยาบาลโดยตรง และมีหน่วยงานกลางเข้ามาตรวจสอบกำกับดูแล ทราบว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการ"

ขณะที่นายวนัส จันแดง อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อนามัยแม่และเด็กซึ่งพักอยู่ที่ห้องหมายเลข 6 แฟลตกระดังงา กล่าวว่า กลิ่นจากอาคารกำจัดขยะของ รพ.ขอนแก่น สร้างผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก เนื่องจากอาคารดังกล่าวภายหลังจากที่สร้างเสร็จ มีกระบวนการกำจัดขยะเกิดขึ้น ซึ่งขยะดังกล่าวนั้นเป็นขยะสีแดงคือขยะอันตรายขยะติดเชื้อ มีกลิ่นเหม็นไหม้แปลกๆ ที่ไม่ใช่การเผาไหม้ธรรมดาทั่วไปที่เคยได้กลิ่น โดยกลิ่นคละคลุ้งไปทั่วเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งกระบวนการต่างๆ นั้นเราไม่ทราบว่าทำอย่างไร แต่มีกลิ่นเหม็นขึ้นมาเข้าจมูกเข้าคอเวียนศีรษะ จนตนเองอาเจียนออกมาเพราะทนไม่ไหว ก่อนหน้านี้เป็นโครงหลังคาเปิดโล่ง ส่งกลิ่นแรง ก่อนที่จะมีการร้องเรียนไปยังสื่อมวลชน ผู้ที่อาศัยอยู่ในแฟลตรวมตัวกันร้องเรียนไปยังโรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อให้แก้ไขปรับปรุง เพราะกลิ่น เป็นมลพิษต่อระบบทางเดินหายใจ แต่การแก้ไขได้เพียงแค่บรรเทาเท่านั้น และยังมีผลกระทบอยู่เหมือนเดิม จึงต้องการให้ หยุดใช้อาคารดังกล่าวกำจัดขยะอีก หรือย้ายออกไปสร้างที่อื่น

ต่อมา ผู้สื่อข่าวประสานไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โรงพยาบาลขอนแก่น เพื่อขอสัมภาษณ์ผอ.รพ.ขอนแก่น แต่ติดราชการอยู่ต่างจังหวัด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่ากรณีดังกล่าว โรงพยาบาลขอนแก่นมีการชี้แจงผ่านทางเว็บไซต์ของ รพ.เรียบร้อยแล้วว่า การจัดการขยะติดเชื้อของโรงพยาบาลขอนแก่น ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและยังทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในหลายประเด็น 

โรงพยาบาลขอนแก่น จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การจัดการมูลฝอยติดเชื้อของโรงพยาบาลขอนแก่นเป็นระบบกรจัดการมูลฝอยติดเชื้อโดยใช้ "วิธีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ" ซึ่งเป็นไปตามข้อ 25(2) แห่งกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ที่ลงนามโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งให้ไว้ ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2545 (มิใช่การเผาตามข้อ 25(2) 

...

โรงพยาบาลขอนแก่นประสงค์จะดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยตนเองโดย "วิธีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำ" จึงดำเนินการตามขั้นตอนตามข้อที่ 6 ข้อที่ 25(2) ข้อที่ 27 และ ข้อที่ 28 ตลอดจนดำเนินการทั้งด้านการเก็บ การขน การกำจัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแห่งกฎ กระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ทุกประการ โดยโรงพยาบาลขอนแก่น ได้ดำเนินการแจ้งให้เทศบาลนครขอนแก่นเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565 จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปทำการตรวจสอบระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเทศบาลนครขอนแก่นได้เข้าพื้นที่ตรวจสอบระบบครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 และได้ติดตามความคืบหน้าหลายครั้ง พบว่าโรงพยาบาลขอนแก่นดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 ทุกประการ 

เพียงแต่พบเหตุรำคาญเรื่องกลิ่นกับผู้พักอาศัยของศูนย์อนามัย ที่ 7 ขอนแก่นที่พักอยู่ติดรั้วกำแพงกั้น จึงขอให้โรงพยาบาลขอนแก่นแก้ไข ปรับปรุง เรื่องกลิ่น ซึ่งถือเป็นเหตุรำคาญ จึงได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง สรุปโดยรวมดังนี้ โดยกลิ่นจาก "ของเหลวหลังการบำบัด" ดำเนินการให้ปลายท่อระบายของเหลวจากระบบบำบัดจุ่มลงใต้ผิวน้ำบริเวณรางระบายน้ำ จัดทำฝาตะแกรงและปิดด้วยสารดักกลิ่น ประกอบไปด้วย ผงถ่านกัมมันต์ผงกาแฟ ตลอดแนว รางระบายน้ำเสียทั้งหมด และลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงพยาบาล (ระบบ Activated Sludge) ในอาคารบำบัดมูลฝอยติดเชื้อที่เมื่อบำบัดเสร็จในแต่ละรอบ รอบละประมาณ 40 นาที ฝ่าบนและฝาล่างจะเปิดออก ซึ่งขณะฝาเปิดจะมี "ไอน้ำ" ออกมา ในส่วนนี้ได้มีการปรับปรุง โดยจัดทำ hood ทั้งฝาบนและล่าง พร้อมมอเตอร์ เพื่อดูดไอน้ำที่ออกมาหลังเปิดฝา และจัดทำปล่องระบายไอน้ำจากปากเหนือฝ่าปิด-เปิด ตลอดแนวจนปากปล่องสูงกว่าอาคารผู้ป่วย และอาคารผู้พักอาศัยของศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น 

...

"เปลี่ยนทิศทางของปลายปล่องออกจากศูนย์อนามัยที่ 7 ซึ่งห่างจากอาคารพักอาศัยศูนย์อนามัยกว่า 10 เมตร โดยภายในปล่องจะมี carbon filter (แผงกรองกลิ่น) อีก 3 ชั้น และภายหลังการปรับปรุงแล้วเสร็จ หอผู้ป่วยที่อยู่ใกล้ที่สุด กว่า 30 เมตร ก็ไม่ได้ประสบปัญหาเรื่องกลิ่นแต่อย่างใด และตัวอาคารกำจัดมูลฝอยติดเชื้อโดยวิธีฆ่าเชื้อด้วยไอน้ำ ได้จัดการปิดผนังให้มิดชิดทั้ง 3 ด้าน (ด้านหลังที่ติดกับศูนย์อนามัยที่ 7 และด้านข้าง 2 ด้าน) เหลือเพียงด้านหน้าอาคาร ซึ่งหันหน้าเข้าตัวโรงพยาบาล ระหว่างบำบัดมูลฝอยติดเชื้อ โรงพยาบาลขอนแก่นทำแผงกั้นปิดทึบบริเวณกำแพงด้านหลังที่ติดกับศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ที่สูงกว่าตัวอาคารกำจัดมูลฝอยติดเชื้ออีกชั้นหนึ่งด้วยเพื่อป้องกันกลิ่นจากไอน้ำ"