สภาเกษตรกรกาฬสินธุ์ จัดเวทีเสวนาสืบประวัติการปลูกมะพร้าวน้ำหอม ที่ปลูกเชิงเทือกเขา GEOPARK หรือ ภูแล่นช้าง เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นพืช GI เรียกชื่อใหม่ว่า "มะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์" โดยมีจุดเด่น เป็นมะพร้าวลูกใหญ่ ปลูกง่าย ให้น้ำเยอะ มีรสชาติหอม หวาน

สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ โดย ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานฯ พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ ผาลาโห หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ได้จัดเวทีเสวนาสืบประวัติการปลูกมะพร้าวน้ำหอมจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลทางวิชาการ ขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical  Indication) หรือ GI จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกชื่อว่า “มะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์” เป็นมะพร้าวน้ำหอมที่ปลูกบริเวณเชิงเทือกเขาที่พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ GEOPARK ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ภูแล่นช้าง” เป็นเทือกเขาที่ครอบคลุมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.คำม่วง สหัสขันธ์ สมเด็จ ห้วยผึ้ง นาคู เขาวง และกุฉินารายณ์ มีอัตลักษณ์เป็นมะพร้าวน้ำหอม ลูกใหญ่ ปลูกง่าย ให้น้ำเยอะ มีรสชาติหอม หวาน หลังจากเริ่มปลูกและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอด 40 ปีที่ผ่านมา 

...

ดร.นิรุจน์ อุทธา หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากการสอบถามข้อมูลประวัติการปลูกมะพร้าวน้ำหอมของเกษตรกรผู้ริเริ่มปลูกมะพร้าวน้ำหอมอย่างเป็นระบบครบวงจรคนแรกของจังหวัดกาฬสินธุ์ คือ นายประธาน สินธุมา เจ้าของสวนมะพร้าว 100 ไร่ ที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน บ้านถ้ำปลา ต.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ และเครือข่ายผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมกาฬสินธุ์ พบว่า เริ่มปลูกมะพร้าวน้ำหอมอย่างจริงจังเมื่อ ปี 2527 หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จำนวน 1,400 ต้น โดยนำมะพร้าวน้ำหอม “พันธุ์เตี้ยก้นจีบ” มาจากบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสงคราม ปลูกระยะห่าง 6 เมตร X 6 เมตร และขุดบ่อขนาดใหญ่เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับดูแลมะพร้าวฯ

หัวหน้าสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวต่อว่า ลักษณะดินบ้านถ้ำปลา เป็นพื้นที่เชิงเขาที่เรียกว่า “ภูแล่นช้าง” ซึ่งทอดยาวตั้งแต่อำเภอคำม่วงไปจนถึงอำเภอกุฉินารายณ์ เป็นพื้นที่ภูเขาที่พบซากฟอสซิลไดโนเสาร์หรือพื้นที่ GEOPARK เช่น ภูน้อย ภูกุ้มข้าว ภูสิงห์ ภูค่าว ภูปอ ภูแฝก ภูแล่นช้าง ภูแดง ภูน้ำจั้น เป็นต้น สภาพเป็นดินเชิงเขา มีลักษณะเป็น ดินเหนียว ปนทราย และมีหินลูกรังอยู่ชั้นล่าง ซึ่งเป็นลักษณะดินดังกล่าวมีลักษณะเฉพาะ ที่แตกต่างจากดินเลนบ้านแพร้ว จังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้ผลผลิตมะพร้าวน้ำหอมหลังปลูก 5 ปี มีลักษณะ ลูกใหญ่ ปลูกง่าย ให้น้ำเยอะ มีรสชาติหอม หวาน เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

ดร.นิรุจน์ กล่าวด้วยว่า จึงมีเกษตรกรนำพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมไปปลูกในพื้นที่อำเภอ คำม่วง สมเด็จ นาคู ห้วยผึ้ง เขาวง และกุฉินารายณ์ เพิ่มเติมจำนวน 278 ราย รวมพื้นที่ 311 ไร่ และให้ผลผลิตที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นแบบเดียวกัน จนทำให้มะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์มีชื่อเสียง เป็นที่ต้องการของประเทศลาว และนักธุรกิจเอกชนสนใจนำมะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์ไปขายประเทศจีน โดยขนส่งด้วยรถไฟความเร็วสูงในอนาคต นอกจากนี้ มะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์ ยังเป็นผลไม้ทรงโปรดของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โอกาสที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงงานที่จังหวัดกาฬสินธุ์ อีกด้วย

...

ดร.นิรุจน์ กล่าวด้วยว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงเตรียมนำข้อมูลประวัติมะพร้าวน้ำหอมภูสิงห์ ขอขี้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้.