หน่วยอาสากู้ภัยโคราชด้านการแพทย์ฉุกเฉินระส่ำ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ปัญหาภายใน สพฉ.หยุดจ่ายค่าชดเชยกว่า 8 เดือน หลายจุดอ่วมรับภาระไม่ไหวต้องหยุดบริการ เป็นภาระรถฉุกเฉินของโรงพยาบาล

เมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 2 กรกฎาคม 66 ที่ผ่านมา ที่วิหารเช็งหงั่มตั่ง มูลนิธิพุทธธรรม 31 นครราชสีมา นายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล รองประธานมูลนิธิพุทธธรรม 31 ในฐานะผู้รับผิดชอบงานการแพทย์ฉุกเฉินหน่วยกู้ภัยฮุก31 นครราชสีมา พร้อมผู้บริหาร และผู้แทนอาสาสมัครในสังกัด ได้ประชุมหารือในระเบียบวาระปัญหาการบริหารจัดการภารกิจกู้ภัย กู้ชีพ กรณีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เกิดปัญหาภายใน ซึ่งเป็นการบริหารงานจัดการข้อมูลระหว่างฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศกับงานกองทุน ส่งผลให้ไม่สามารถเบิกจ่ายเงินชดเชยให้กับหน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยเฉพาะมูลนิธิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 9,000 หน่วยงาน ได้รับผลกระทบและเริ่มทยอยหยุดปฏิบัติภารกิจ ล่าสุดมีจำนวนประมาณ 50 หน่วย ไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายทั้งราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าครองชีพที่สวนทางกับรายได้

...

นายพิสิษฐ์ เปิดเผยว่า หน่วยกู้ภัยฮุก31 นครราชสีมา ถือเป็นหน่วยปฏิบัติการพื้นฐาน มีรถพยาบาลทั้งของมูลนิธิและอาสาสมัครในพื้นที่ 32 อำเภอ ของ จ.นครราชสีมา รวมทั้งต่างจังหวัด จำนวนกว่า 50 จุด ทั้งหมดได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยปฏิบัติการ การแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีรถพยาบาลกว่า 60 คัน ได้รับค่าชดเชยจากการออกปฏิบัติการจากกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน สพฉ. เฉลี่ยค่าชดเชย 350-500 บาท ต่อการปฏิบัติการ 1 ครั้ง สะท้อนสภาพความเป็นจริงยังไม่เพียงพอต่อภารกิจการออกปฏิบัติการ ที่ผ่านมาทางมูลนิธิได้สำรองจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับอาสาสมัครเป็นเวลา 8 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน แต่มีอาสาสมัครหน่วยกู้ภัย 5 จุด ทนแบกรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ไหว ต่างเริ่มหยุดปฏิบัติการแล้ว

รองประธานมูลนิธิพุทธธรรม 31 กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ สพฉ.ยังไม่มีความเคลื่อนไหว หรือให้คำตอบถึงความชัดเจน รวมทั้งระยะเวลาการจ่ายค่าชดเชยดังกล่าว หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ แนวโน้มจะมีชุดปฏิบัติการอีกหลายจุดต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ขาดทรัพยากรช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บจากอุบัติภัยต่างๆ และเป็นภาระของโรงพยาบาลท้องถิ่น ต้องมีภารกิจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ระบบการจัดการด้านสาธารณสุขเป็นไปด้วยความยากลำบากขึ้น ฝากถึง สพฉ. หรือผู้มีอำนาจให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาภายในของ สพฉ. เพื่อประคับประคองให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินสามารถให้บริการกับผู้ป่วยได้ต่อไป.