คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกโรงเตือนปีนี้ประเทศไทยจะแล้งจัด เนื่องจากซีกโลกแถบประเทศไทย เข้าสู่ภูมิอากาศแบบเอลนีโญ มีความรุนแรงกว่าในอดีตทำให้เกิดคลื่นความร้อนและภัยแล้งขยายเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้ฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน
...
โดยเฉพาะพื้นที่ ภาคเหนือ และ ภาคอีสาน ได้รับผลกระทบจากไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5 ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.66 ภัยแล้งทวีความรุนแรงมากขึ้น ชาวบ้านและเกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
ดังนั้น คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้ผนึกกำลังนักศึกษาโครงการ “สิงห์อาสา” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 “สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน ให้มีน้ำไว้ใช้ทั้งในช่วงหน้าแล้งและภาวะปกติ
สำหรับการทำงานปีนี้ “สิงห์อาสา” นำโดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี, บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด, คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น, บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด, บริษัทในเครือฯ และ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ให้ความสำคัญการสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนเป็นหลัก
ทั้งหมดจับมือจัดโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” ด้วยการขุดบ่อเพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ตลอดฤดูแล้งและภาวะปกติ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวบ้าน
ควบคู่กับการนำรถน้ำออกให้บริการในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน ณ ชุมชนบ้านหนองแวงไร่ ต.ในเมือง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น
...
ผศ.มัลลิกา ศรีสุธรรม อาจารย์สาขาวิชาปฐพี ศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น กล่าวว่า คาดการณ์อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะพุ่งขึ้นทุบสถิติในปีนี้และปีหน้า ปรากฏการณ์เอลนีโญจะทวีความรุนแรงทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อประเทศที่ประสบปัญหาจากสภาพอากาศแต่เดิมอยู่แล้ว เช่น คลื่นความร้อน ภัยแล้ง และไฟป่า
“การสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้ โดยพื้นที่ที่เราเลือกครั้งนี้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคและทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและฤดูกาลเพาะปลูกที่ฝนทิ้งช่วง” ผศ.มัลลิกา กล่าว
...
นายรวินทร์ ชมพูนุชธานินทร์ ผอ.กลุ่มประชาสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า การสร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านตลอดหลายปีที่ผ่านมาช่วยให้ชาวจังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ใกล้เคียงมีแหล่งน้ำชุมชนไว้ใช้ทั้งในยามแล้งและปกติ
เมื่อมีน้ำพอกินพอใช้ทำให้ชาวบ้านสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ประกอบอาชีพได้ หากนับตั้งแต่ปี 2564 “สิงห์อาสา” ได้สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านมาแล้วในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่ง และจะขยายต่อไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป
...
ตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี สิงห์อาสา พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษา “สิงห์อาสา” ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ร่วมลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ
เช่น แจกจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวบ้าน ติดตั้ง “ธนาคารน้ำสิงห์” เป็นแท็งก์น้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ ทำท่อประปาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล
รวมทั้งสร้างแหล่งน้ำชุมชน นำองค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินมาสร้างแหล่งน้ำชุมชนและถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้าน
การสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน นับเป็นอีกหนึ่งโครงการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน ให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ จะส่งผลให้ทุกชีวิตมีคุณภาพดีขึ้น.
ทีมข่าวภูมิภาค