สทนช.ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น หารือหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการน้ำปี 66-67 รับมือ "เอลนีโญ" ที่ส่อเค้ายาวถึงปี 67 พร้อมเปิดแผนพัฒนาลุ่มน้ำชีตอนกลาง ลดพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-แล้งซ้ำซาก แก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ
เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.66 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และลุ่มน้ำชี
โดย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงโครงการศึกษาแผนหลักแบบบูรณาการ เพื่อบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งพื้นที่เฉพาะ (Area Based) ชีตอนกลาง ว่า สทนช.เล็งเห็นสภาพปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง ที่มีปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง ปัญหาน้ำอุปโภค-บริโภค ปัญหาด้านคุณภาพน้ำ ฯลฯ อยู่ในเกณฑ์สูง ประกอบกับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องเร่งดำเนินการหามาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี พ.ศ.2561-2580) เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางประกอบด้วย ลุ่มน้ำสาขา 9 ลุ่มน้ำสาขา ครอบคลุมพื้นที่ 459 ตำบล 67 อำเภอ 7 จังหวัด ได้แก่ จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม จ.มุกดาหาร จ.ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด และ จ.อุดรธานี รวมพื้นที่ประมาณ 12.85 ล้านไร่
...
ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาพบว่าพื้นที่โครงการมีสภาพปัญหาทั้งด้านอุทกภัย ภัยแล้งซ้ำซาก และฝนทิ้งช่วงเป็นประจำทุกปี รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งพบเกือบทุกพื้นที่ มีเสี่ยงภัยแล้งประมาณ 7.47 ล้านไร่ เนื่องจากมีปริมาณน้ำเก็บกักใช้การของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง รวม 2,478 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตร ปศุสัตว์ ภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวทุกกิจกรรมรวมกันไม่ต่ำกว่า 3,370 ล้าน ลบ.ม./ปี ส่งผลให้ขณะนี้มีปริมาณน้ำที่ขาดแคลน 504 ล้าน ลบ.ม/ปี ส่วนฤดูฝนจะประสบปัญหาน้ำท่วมเกิดจากน้ำท่วมล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มริมน้ำชีและลำน้ำสาขา เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าความจุลำน้ำ และมีสิ่งกีดขวางการระบายน้ำหรือได้รับผลกระทบจากท้ายน้ำที่มีระดับสูง จนไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้ทัน พบว่ามีปริมาณน้ำส่วนเกินที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมประมาณ 440 ล้าน ลบ.ม./ปี มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมากกว่า 1.31 ล้านไร่ มีครัวเรือนได้รับผลกระทบอย่างน้อย 85,700 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังพบปัญหาปัญหาขาดแคลนน้ำดิบสำหรับผลิตประปา ปัญหาคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม ซึ่งเสื่อมโทรมจากระบบบำบัดน้ำเสียไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ น้ำเสียที่ปล่อยจากการทำการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งน้ำทิ้งมาจากด้านเหนือน้ำก่อนเข้าพื้นที่โครงการ ล้วนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบนิเวศน์
เลขาธิการ สนทช. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ผลการศึกษาสภาพปัญหาหลักของพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง พบว่า แผนงานโครงการที่ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำตามแผนงานปกติของหน่วยงาน และโครงการเสนอเพิ่มเติมสอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) จำนวน 2,978 โครงการ โดยแบ่งแผนงานการพัฒนาออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะกลาง (ปี 2568-2570) จำนวน 2,947 โครงการ และระยะยาว (ปี 2571-2580) จำนวน 31 โครงการ งบประมาณ 47,800 ล้านบาท โดยเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,250 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้น 998,000 ไร่ ลดปริมาณน้ำหลากที่จะไหลลงสู่แม่น้ำชีตอนกลางและตอนล่างได้ 207 ล้าน ลบ.ม. ทำให้พื้นที่น้ำท่วมลดลง 684,000 ไร่ เติมน้ำให้แหล่งน้ำขนาดเล็กตลอดสองฝั่งลำน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง 1,348 แห่ง รวมทั้งมีระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 28 แห่ง
เลขาธิการ สนทช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ได้มีการศึกษาโครงการเบื้องต้น จำนวน 13 โครงการ ที่มีความสำคัญเร่งด่วนต้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหาตามแผนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ/ระบบส่งน้ำให้ครบทุกลุ่มน้ำสาขา จัดหาแหล่งน้ำแบบพึ่งพาตนเอง (โคก หนอง นา โมเดล) เนื่องด้วยพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางส่วนใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้งสูง จึงทำให้ผลผลิตการเกษตรตกต่ำจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้สมดุลมากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำภาคการผลิต ควบคู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ ประกอบด้วย การปรับปรุงคุณภาพน้ำของที่มีการปนเปื้อนในแหล่งน้ำดิบ (ระบบประปาบาดาล) การตัดยอดน้ำหลากจากการพัฒนาแหล่งน้ำธรรมชาติริมแม่น้ำ การฟื้นฟูคุณภาพน้ำในลำน้ำชีพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลาง สนับสนุนแนวคิดการจัดทำโครงการไร่ นา ป่า ครอบครัว ส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำในระดับแปลงนา ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ยั่งยืนในทุกมิติ อย่างไรก็ตามโครงการศึกษาดังกล่าว จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกจำนวน 2 ครั้ง โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.66 นี้ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นที่ได้รับจากภาคประชาชน สำหรับนำไปเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงรูปแบบการพัฒนา เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแผนงานแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านน้ำที่มีประสิทธิภาพ ในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน
...
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ยังได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำ และความพร้อมรับมือสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งพบว่าสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.66 พบว่า เขื่อนจุฬาภรณ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อน 61.5 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 37.5% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 163.75 ล้าน ลบ.ม. ในจำนวนนี้เหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 24 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 18% ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 40 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำในเขื่อน 768 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 39% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 1980 ล้าน ลบ.ม. ในจำนวนนี้เหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 670 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34% ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 40 ล้าน ลบ.ม. สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำในเขื่อน 789 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 32% ของปริมาณความจุที่ระดับน้ำเก็บกัก 2,431 ล้าน ลบ.ม. ในจำนวนนี้เหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพียง 207 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 11% ซึ่งน้อยกว่าปี 2565 จำนวน 220 ล้าน ลบ.ม. โดยแนวทางการบริหารจัดการน้ำในฤดูฝน 2566 (1 พ.ค.-31 ต.ค.66) ของเขื่อนอุบลรัตน์มีแผนการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำดิบในการผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาค 5 แห่ง ประปาหมู่บ้าน 45 แห่ง สนับสนุนแหล่งอุตสาหกรรมตามลำน้ำพอง 10 แห่ง รวมทั้งรักษาระบบนิเวศ วันละประมาณ 1 ล้าน ลบ.ม.
...
เลขาธิการ สนทช. กล่าวอีกว่า สำหรับช่วงเวลาที่การเพาะปลูกเหมาะสมในปีนี้นั้น ควรหลังกลางเดือน ก.ค.66 เป็นต้นไป มีปริมาณน้ำภาพรวมตามแผนจัดสรรน้ำ 1,430 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่ 2.43 ล้านไร่ โดยพื้นที่การเกษตรของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย, โครงการส่งน้ำฯ พรมเชิญ สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าช่วงต้นลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ-จ.ขอนแก่น, ลำน้ำพอง-ลำน้ำชี-ลำน้ำพรม-ลำน้ำเชิญใช้น้ำฝนเป็นหลักทั้งหมด ส่วนพื้นที่การเกษตรของโครงการส่งน้ำฯ ลำปาวและอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 96 แห่ง มีน้ำสำรองต้นฤดูฝนเพียงพอสำรับอุปโภค-บริโภคและเตรียมแปลงเท่านั้น ในฤดูฝนต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลักและน้ำชลประทานเสริมในช่วงต้นฤดูฝนหรือฤดูฝนทิ้งช่วง
เลขาธิการ สนทช.ย้ำแนวโน้มเอลนีโญ ขณะนี้ น่าจะยาวถึงปี 2567 ที่อาจจะส่งผลกระทบได้ ทั้งนี้ได้มีการสั่งให้ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมด จากปริมาณฝนที่ลดน้อยลง โดยขอให้ปลูกผลผลิตใช้น้ำน้อย หรือการปลูกผลผลิตแค่รอบเดียว เพื่อป้องกันความเสียหาย จึงต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตร พร้อมขอให้ทุกฝ่ายรวมกันรณรงค์การใช้น้ำที่มีแนวโน้มลดลง และเห็นถึงปัญหาอย่างแท้จริง
...