กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศไทยเข้าสู่ฤดูฝนปี 2566 อย่างเป็นทางการวันที่ 22 พ.ค.แต่ปีนี้ฝนจะน้อยกว่าปีที่แล้ว พร้อมเตือนระวังฝนทิ้งช่วงกลางเดือน มิ.ย.-ก.ค.ให้เกษตรกรเตรียมรับมือภัยแล้งสถานการณ์เอลนีโญกำลังปานกลางตั้งแต่ มิ.ย.-ต้นปี 2567 ด้านกรมฝนหลวงฯ เตรียมฝูงบินลุยช่วยพื้นที่เกษตร-อ่างเก็บน้ำให้มีน้ำใช้เพียงพอ
ที่ศูนย์ปฏิบัติการพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ตอนสายวันที่ 20 พ.ค. น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงข่าวว่า ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อนและเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนปี 2566 ในวันที่ 22 พ.ค.โดยปีนี้ปริมาณฝนทั้งฤดูจะน้อยกว่าปี 2565 ประมาณกลางเดือน มิ.ย.ถึงกลาง ก.ค.จะเกิดฝนทิ้งช่วง เดือน ส.ค.-ก.ย. จะเป็นช่วงที่ฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด มีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและอีสาน 1-2 ลูก ทั้งนี้ ฤดูฝนของประเทศ ไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค. ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นไปถึงกลางเดือน ม.ค. 2567
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยากล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลและคาดการณ์แบบจำลองศูนย์ภูมิอากาศชั้นนำของโลกคาดว่า จะเกิดสภาวะเอลนีโญระดับปานกลางในไทยช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค.ต่อเนื่องถึงช่วงเดือน ธ.ค.2566-ก.พ. 2567 ส่งผลให้สภาวะอากาศของไทยปี 2566 มีแนวโน้มที่อุณหภูมิสูงกว่าค่าปกติ ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศ ช่วงฤดูฝนจะน้อยกว่าร้อยละ 5 กว่าจากค่าเฉลี่ยปกติ 1,620 มิลลิเมตร/ปี ส่งผลให้ช่วงประมาณกลางเดือน มิ.ย.-ก.ค.จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อาจทำให้เกิดการ ขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่วนช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย.เป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด มีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1-2 ลูก ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำปาไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้
...
น.ส.ชมภารีกล่าวอีกว่า ฤดูฝนของไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค.ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อจนถึงกลางเดือน ม.ค.2567 กรมอุตุนิยมวิทยาจะติดตามสภาวะเอลนีโญในไทยอย่างใกล้ชิดและวิเคราะห์สถานการณ์ทุก 3 เดือน เพื่อประสานกับกรมชลประทานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำให้พอใช้ภายในประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสม เนื่องจากมีแนวโน้มสภาวะอากาศปี 2567 อุณหภูมิเฉลี่ยจะยังคงสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.5-1 องศาฯ อาจใกล้เคียงกับปี 2559 ปีที่เกิดเอลนีโญกำลังแรง ปริมาณฝนรวมของไทยจะมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 10 และมีโอกาสสูงที่จะเกิดความแห้งแล้งได้
ขณะที่นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีฝนตกเล็กน้อย บางพื้นที่ยังไม่มีฝนตก ทำให้สถานการณ์น้ำและความชื้นในดินค่อนข้างต่ำ พื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานประมาณ 116 ล้านไร่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันมีเกษตรกรและประชาชนขอรับบริการฝนหลวงจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศรวม 1,387 ราย ใน 64 จังหวัด 459 อำเภอ สถานการณ์น้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณเก็บกักลดน้อยลง กรมชลประทานขอให้กรมฝนหลวงฯ ปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้เขื่อนและอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ 70 แห่ง จากการคาดการณ์สภาพอากาศปี 2566 พบปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผลกระทบให้ปีนี้มีฝนตกน้อยกว่าปี 2565 โดยเกิดฝนทิ้งช่วงตั้งแต่กลางปีเป็นต้นไปและเกิดความแห้งแล้งขึ้นจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ จึงสั่งให้มีการปรับแผนการทำงานรับมือกับภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น