องค์การสวนสัตว์ฯ จับมือ สวนสัตว์นครราชสีมา เปิดตัว "ลูกพญาแร้ง" ตัวแรกของไทย ซึ่งเกิดจากแม่ชื่อว่า "นุ้ย" และพ่อชื่อ "แจ็ค" หลังรอมากว่า 30 ปี
วันที่ 10 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สวนสัตว์นครราชสีมา เปิดตัว "ลูกพญาแร้ง" เพศเมีย ตัวแรกของประเทศไทย และขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย โดยแม่พญาแร้ง ได้ออกไข่ใบแรกเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา และทางเจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ฯ ได้นำเข้าตู้ฟัก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 ซึ่งธรรมชาติของพญาแร้ง จะออกไข่ครั้งละ 1 ฟองเท่านั้นต่อฤดูผสมพันธุ์
แต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการเพิ่มประชากร ทางเจ้าหน้าที่ โดยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ จึงนำไข่มาฟักในตู้ฟักเพื่อเพิ่มอัตราการฟักเป็นตัวมากยิ่งขึ้น โดยหวังให้แม่พญาแร้งออกไข่ใบที่ 2 จนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 ได้เป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย ที่แม่พญาแร้งสามารถออกไข่ใบที่ 2 ได้สำเร็จ ซึ่งใบนี้จะปล่อยให้แม่พญาแร้งฟักเอง เพื่อยังคงสัญชาตญาณตามธรรมชาติ และเราอาจได้รับข่าวดีในเร็วๆ นี้
ทั้งนี้ ลูกพญาแร้งจากไข่ใบแรก ได้ฟักออกมาเป็นตัวเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา โดยใช้เวลาการฟักในตู้ฟัก ประมาณ 50 วัน
...
นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และนายธนชน เคนสิงห์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา จึงร่วมกันเปิดตัวสมาชิกใหม่ "ลูกพญาแร้ง" ซึ่งเกิดจากแม่ชื่อว่า "นุ้ย" และพ่อชื่อ "แจ็ค" หลังจากพญาแร้งน้อยลืมตาดูโลก และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ของสวนสัตว์ฯ มาระยะหนึ่งแล้ว นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทย หลังรอมานานกว่า 30 ปี
โดยนายอรรถพร เปิดเผยว่า ในโลกมีแร้งทั้งหมด 23 ชนิด ซึ่งในประเทศไทย จะพบได้ 5 ชนิด รวมถึง พญาแร้ง ซึ่งเป็นแร้งประจำถิ่นของประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยไม่พบแร้งประจำถิ่นในธรรมชาติอีกเลย โดยพญาแร้งฝูงสุดท้าย พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้วกว่า 30 ปี จากการโดนยาเบื่อที่พรานล่าสัตว์ป่าใส่ไว้ในซากเก้งเพื่อล่าเสือโคร่ง พบซากพญาแร้งครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535
ทั้งนี้ แร้งทุกชนิดทั่วโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะพญาแร้ง ที่มีสถานภาพเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR) ตามองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ในส่วนเอเชียเป็นนกประจำถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่หายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ มีประชากรในธรรมชาติ ไม่ถึง 9,000 ตัวทั่วโลก การเกิดขึ้นของลูกพญาแร้งในสถานที่เพาะเลี้ยง (สวนสัตว์) ถือเป็นเรื่องยากมาก
ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีพญาแร้งแค่ในสถานที่เพาะเลี้ยงเพียง 6 ตัวเท่านั้น ซึ่งสวนสัตว์นครราชสีมา มีความพยายามเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งมากว่า 20 ปี พ่อแม่พญาแร้งคู่แรก เริ่มให้ไข่ครั้งแรกเมื่อปี 2563 แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไข่ไม่มีเชื้อ จึงมีความพยายามจับคู่ผสมพันธุ์ใหม่ โดยใช้วิธีตามธรรมชาติ ปัจจุบันลูกพญาแร้งเกิดใหม่ในสถานที่เพาะเลี้ยงทั่วโลก มีเพียงแค่ประเทศอิตาลี และประเทศไทย เป็นประเทศที่ 2 ที่สามารถเพาะขยายพันธุ์พญาแร้งได้ในสถานที่เลี้ยง นับเป็นความสำเร็จขององค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ด้านการอนุรักษ์ และวิจัยในการเติมประชากรในอนาคต.