กรมศิลปากร ยืนยันโครงกระดูกที่พบกลางทุ่งนา จ.ขอนแก่น เป็นกระดูกของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในยุคเหล็ก มีอายุประมาณ 2,500 ปี

วันที่ 21 มีนาคม 2566 นายดุสิต ทุมมากร ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร และนักโบราณคดี ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์ ที่ชาวบ้านพบในที่นาของนางสาวณัฐฐกาณฑ์ คำชมภู อายุ 52 ปี ที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านแวงน้อย ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น

โดยทำการสำรวจความสมบูรณ์ของโครงกระดูกมนุษย์ ด้วยการวัดโครงร่างของกระดูก พบว่ายาว 2 เมตร ยังมีฟันล่างและฟันบนที่สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังทำการแยกวัตถุโบราณ ที่แตกเป็นชิ้นส่วน ที่มีทั้งหม้อ กระเบื้อง และเครื่องมือ รวมถึงเศษกระดูกสัตว์ เพื่อนำเก็บไปรักษาที่สำนักงานศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น

นายดุสิต กล่าวว่า จากการสอบถามเจ้าของพื้นที่นา ทราบว่า มีทั้งหมดจำนวน 12 ไร่ 2 งาน แต่ในพื้นที่ที่พบโครงกระดูกนั้น มีพื้นที่ประมาณหนึ่งไร่ เป็นโครงกระดูกมนุษย์ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ยุคเหล็ก อายุประมาณ 2,500 ปี ถึง 1,500 ปี และพบเศษเครื่องปั้นดินเผา เป็นหม้อดินมีลายเชือกทาบ และหินดุที่ใช้สำหรับทำเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งไม่ได้หนาแน่นมาก แสดงว่าการปรับไถดินครั้งนี้ อาจจะยังไม่ถึงระดับที่เจอวัตถุโบราณมาก แต่ถ้าขุดลงไปอาจจะเจออีก

...

ตอนนี้ต้องขอความร่วมมือจากเจ้าของที่นา ว่าให้พอแล้วสำหรับการปรับไถ เพื่อจะรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ที่สำคัญอันนี้ไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาต่อไป เพราะตรงนี้เป็นเนินดินขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 500 เมตร แต่บางส่วนบริเวณชายเนินถูกปรับเป็นที่นาไปแล้ว เหลือแต่ยอดเนิน ซึ่งทางเจ้าของที่ดินก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทั้งยังกล่าวอีกว่า พื้นที่ตรงนี้เคยเป็นชุมชนโบราณของบรรพชนคนไทย ที่อาศัยอยู่เมื่อประมาณ 2,500 ถึง 1,500 ปีมาแล้ว ในสมัยที่เราเรียกว่า ยุคกรีก ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย การดูแลรักษาส่วนนี้ ศิลปากรขอนแก่น ได้รับงบประมาณ จากกรมศิลปากร 800,000 บาท เพื่อทำการสำรวจเมืองโบราณ ชุมชนโบราณ ในเขตจังหวัดขอนแก่น

ได้เริ่มงานมา ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ก็ประมาณสี่เดือนแล้ว ซึ่งเมื่อพบก็จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดไปศึกษาวิเคราะห์ เพื่อจัดระดับความสำคัญก่อนหน้าหลัง ว่าชุมชนไหนที่มีความสำคัญ และมีลักษณะโดดเด่นและจะทำการศึกษาพัฒนาต่อ

ทางกรมศิลปากรให้ความสำคัญกับชุมชนเหล่านี้มาก โดยเฉพาะชุมชนแห่งนี้ที่เป็นตัวอย่าง เพราะเนินแบบนี้ในภาคอีสานมีเยอะมาก โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เกือบทุกเนินมักจะมีวัตถุโบราณ และจะมีผู้ไม่หวังดี กลุ่มค้นหาของเก่า เข้ามาหาลักขุด โดยนำเอาเครื่องตรวจโลหะ เครื่องตรวจหาวัตถุระเบิดไปหาตามหมู่บ้าน ถ้าชาวบ้านเจอให้แจ้งสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น จะดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านั้น เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่ได้ทำลายมรดกศิลปวัฒนธรรม 

ส่วนกรณีที่ชาวบ้านมาขอโชคลาภ หรือมาเหยียบย่ำ คงต้องให้ความรู้กับชาวบ้านว่านี่คือหลักฐานที่แสดงถึง บรรพชนของคนไทย ในเมื่อท่านเป็นบรรพชนของเรา เราก็ต้องควรจะเคารพ ดอกไม้หรือเครื่องบูชา ถือว่าเป็น ประเพณี ซึ่งถือว่าเป็นวัฒนธรรมที่ดี ว่า ยังระลึกถึงบรรพชนของเรา เพียงแต่ว่าต้องจัดสรรให้เหมาะสม ให้คน เดินเป็นระเบียบ อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม อย่าไป เหยียบย่ำใกล้วัตถุโบราณ

สำหรับโครงกระดูกที่พบ ยังตอบไม่ได้ว่าเพศหญิงหรือเพศชาย เพราะโครงกระดูกค่อนข้างชำรุดมาก อาจเพราะกาลเวลา หรือมีการชำรุดมาจากอดีต ไม่ใช่การชำรุดจากการค้นพบ หรือถูกแรงกดของแผ่นดิน ทำให้โครงกระดูกผุ และแบนมาก ต้องขอเวลาวิเคราะห์

ขณะที่นางสาวณัฐฐกาณฑ์ หรือวิ คำชมภู อายุ 52 ปี กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น กรมศิลปากร ลงพื้นที่มาตรวจสอบจนทราบว่า โครงกระดูกที่พบในที่นา เป็นกระดูกของบรรพบุรุษ จะดูแลรักษา และไม่ให้ใครเข้ามาขุด หรือทำลายให้เสียหาย ถ้ามีใครจะเข้ามาชม ก็จะต้องแจ้งให้ทราบก่อน ส่วนการทำนานั้นก็ยังจะทำต่อไป แต่จะหยุดการขุดเนินดินไว้ และรักษาทรัพย์สินบริเวณดังกล่าวให้ดีที่สุด

...

ด้านนางทองคูน ถึกนอก อายุ 81 ปี ชาวบ้านแวงน้อย หมู่ 1 เล่าว่า ตนเองเป็นลูกหลานที่บ้านนี้ตั้งแต่เกิด ได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับโนนสาวเอ้ หรือเนินดินจุดที่ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ซึ่งคำว่านูน เป็นลักษณะที่สูง ที่คนสมัยจะเลือกเป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัย เปรียบเหมือนหมู่บ้านในปัจจุบัน

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ตนเองได้ยินจากปากของพ่อตา บอกว่าถึงเหตุที่เรียกว่า โนนสาวเอ้ เพราะจะมีผู้หญิง ทั้งในหมู่บ้าน และต่างหมู่บ้านมาแต่งตัวกันอยู่ที่บริเวณนี้ เพื่อไปร่วมงานบุญ หรืองานมหรสพรื่นเริงต่างๆ รวมถึงเป็นที่พักผ่อนหลับนอน

หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่าเป็นโครงกระดูกของมนุษย์ บรรพบุรุษอายุหลายพันปี ก็รู้สึกดีใจเพราะบรรพบุรุษ อาจจะอยากจะขึ้นมาเพื่อให้ลูกหลานได้ทำบุญไปสู่สุคติ อีกทั้งดินในบริเวณนี้ ไม่มีใครสามารถซื้อได้ จนกระทั่งเจ้าของที่นา มาติดต่อขอซื้อและสามารถซื้อสำเร็จไปได้ด้วยดีโดยไม่มีอุปสรรค คาดว่าเจ้าของที่น่าเป็นลูกสาวของบรรพบุรุษ ที่จะพาโครงกระดูกขึ้นมาทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้.