การแก้ปัญหาภัยแล้งเป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายสิบปี แต่จนถึงวันนี้ก็ยังทำไม่สำเร็จ บางพรรคลักไก่คิดมอตโต “ไม่รู้ๆ แต่ไม่แล้ง” ก็เล่นยิงมุกช่วงหน้าฝนมันจะแล้งได้ยังไง และพอไปดูผลงานจริงๆกลับไม่มีโครงการไหนแก้ภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน แม้ตอนนี้ทุกพรรคการเมืองไอเดียกระฉูด คิดนโยบายดีๆออกมาได้เยอะ แต่ยังไม่มีพรรคไหนเสนอนโยบายแก้ปัญหาน้ำแล้งในพื้นที่การเกษตรที่อยู่นอกเขตชลประทานเลย

ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตร 154 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 32.75 ล้านไร่ ส่วนอีก 121.25 ล้านไร่ หรือ 78% เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียวในการทำไร่ทำนา ไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ตลอดทั้งปี เพราะขาดต้นทุนสำคัญคือน้ำ ฉะนั้นที่บอกว่าไทยเป็นเมืองเกษตรเป็นครัวของโลก มันอาจเป็นแค่คำพูดเพ้อฝันหลอกตัวเองไปวันๆ

ยุคนี้การสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำไม่ได้ง่ายๆแล้ว ด้วยความเป็นรัฐบาลผสมแทบไม่มีโอกาสทำโครงการใหญ่ๆได้ และจะหาพื้นที่เหมาะสมกับงบประมาณจำนวนมหาศาลมาจากไหน อีกทั้งประชาชนตื่นรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น การต่อต้านจึงมีพลังมากกว่าในอดีต

อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีแก้ปัญหาน้ำแล้ง ให้เกษตรกรทั่วประเทศมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ไม่ต้องอยู่อย่างลำบากยากจนอีกต่อไป โดยใช้งบประมาณแค่ 4 หมื่นล้านบาท และใช้เวลาไม่นานก็เห็นผล นั่นคือการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กทั่วประเทศ

คณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่มี ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นประธาน ได้นำเสนอ รายงานการพิจารณาศึกษาเรื่องแนวทางการลดความยากจนและเหลื่อมล้ำด้วยการจัดการที่ดินและพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับชุมชน ต่อที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อส่งต่อไปยังรัฐบาล สาระสำคัญ คือ การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ทั่วประเทศ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปีและตลอดไป

...

ฝายแกนดินซีเมนต์มีลักษณะพิเศษ สามารถเก็บน้ำได้ไม่มีวันเหือดแห้ง เพราะมีแกนที่ฝังลึกลงใต้ดินเป็น 2 เท่าของความสูงฝาย เช่น ฝายสูง 2 เมตร จะฝังแกนดินลึก 4 เมตร และยังมีหูซ้ายขวาแผ่ออกไปข้างละ 4 เมตร ป้องกันไม่ให้น้ำมุดใต้ดินและลอดออกด้านข้าง ดังนั้น ไม่ว่าจะสูบน้ำออกจากฝายมากแค่ไหน น้ำที่หน้าฝายจะยังคงรักษาระดับเท่าเดิม เพราะน้ำจากแผ่นดินทั้งสองข้างจะไหลลงมาเติมในฝายตามเดิม เนื่องจากฝายอยู่ต่ำกว่าแผ่นดิน

การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ใช้เวลานิดเดียว แค่ 20 วัน และประหยัดงบประมาณ ใช้รถแบ็กโฮคันเดียวก็ทำได้ ฝายสูง 2 เมตรใช้งบประมาณแค่ 500,000 บาท ฝายแห่งแรกที่คณะกรรมาธิการฯไปเห็นมาอยู่ที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ สร้างมาเกือบ 8 ปีแล้ว ทุกวันนี้ยังใช้งานได้ดี รวมถึงหลายจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะ จ.แพร่ สร้างฝายแกนดินซีเมนต์ไว้หลายสิบตัวก็ยังอยู่คงทนใช้การได้ดี

ดร.สังศิตเสนอว่า ประเทศไทยมี 22 ลุ่มน้ำ ลุ่มน้ำชีมีความยาวที่สุด ระยะทางกว่า 1 พันกิโลเมตร ถ้าสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ความสูง 2 เมตร ในทุกๆ 5 กิโลเมตรในแม่น้ำชีจะมีฝาย 200 ตัว หากสร้างฝายลักษณะนี้ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ จะได้ฝาย 4,400 ตัว สมมติฝาย 1 ตัวใช้งบฯ 1 ล้านบาท ก็จะใช้งบฯทั้งหมด 4,400 ล้านบาท แต่กักเก็บน้ำได้ถึง 25% ของปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดละ 500 ล้านบาท ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปทำฝายแกนดินซีเมนต์ในแม่น้ำสายหลัก สายรอง และลำน้ำต่างๆ ฝายเล็กใช้งบฯตัวละ 5 แสนบาท เท่ากับแต่ละจังหวัดมีฝาย 1,000 ตัว ครอบคลุมการใช้น้ำทั้งจังหวัด ทำ 76 จังหวัดใช้งบฯ 38,000 ล้านบาท

ต้นทุนรวมในการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ทั้ง 22 ลุ่มน้ำ รวมกับอีก 76 จังหวัด เท่ากับ 4,400+38,000 = 42,400 ล้านบาท ถ้าจัดงบประมาณ 4 ปี จะใช้งบฯเฉลี่ยปีละ 10,600 ล้านบาทเท่านั้น

ถือว่าใช้ประหยัดและคุ้มค่ามาก แลกกับการช่วยให้เกษตรกรมีน้ำใช้อุปโภค บริโภค ทำการเกษตรตลอดทั้งปี เกษตรกรนอกพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศจะลุกขึ้นมากำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้อย่างแท้จริง เราจะได้เห็นการปลดปล่อยพลังทางการผลิตในภาคเกษตรครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ เศรษฐกิจฐานรากและสังคมเกษตรกรรมจะยกระดับขึ้นทันที.

ลมกรด