ในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้สร้างรอยแผลให้กับพี่น้องเกษตรกรไม่น้อย ทั้งปัญหาผู้คนมีกำลังซื้อน้อย ห้าง ร้าน ตลาด แหล่งทำมาค้าขาย การเดินทาง การขนส่งสินค้าถูกปิด แต่ในภาวะวิกฤติช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ยังมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งสามารถยืนหยัดฝ่าวิกฤตินี้มาได้

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มสมุนไพรอินทรีย์ ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ที่ฉวยจังหวะวิกฤติเป็นโอกาส ปลูกฟ้าทะลายโจรอบแห้งส่งให้กับมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรปีละ 1,000-2,000 กก. สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านปีละ 160,000-320,000 บาท นอกจากจะมีรายได้จากฟ้าทะลายโจร ยังมีพืชผัก ผลไม้ตามฤดูกาล ทำให้เกิดการค้าขายกันเองในหมู่บ้าน และยังทำให้ผู้คนแถบนี้แทบไม่เคยพบเชื้อโควิดเลย

วโรชา จันทโชติ กูรูด้านเกษตรแห่งสวนมะนาววโรชา อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เป็นอีกผู้หนึ่งที่ฝ่าโควิดด้วยการปลูกผักสวนครัวทั้งบนดินและภาชนะที่หาได้ เช่น รังโฟม ยางรถ ทำให้มีกิน เหลือขายได้ทุกวัน โดยเลือกปลูกผักสวนครัว ผสมผสานกับมะนาว กล้วย รวมถึงพืชที่ปลูกอยู่แล้ว ขายและแจกของในสวนทุกอย่างที่มีให้เพื่อนบ้าน แปรรูปเป็นแกงถุง ผัดไทย ไข่กระทะ ขายหน้าบ้าน เมื่อยามเปิดตลาดสามารถนำไปขายสร้างรายได้ให้ครอบครัว

...

อีกกลุ่มที่ฝ่าวิกฤติมาได้ด้วยการแปรรูปอย่างกลุ่มจ๊อดปลาชะโดไทย บ.บางพลับ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่เลี้ยงปลาชะโดปรับปรุงสายพันธุ์ ส่งออกสิงคโปร์และมาเลเซีย หลังจากประสบปัญหาการส่งออก จึงจับมือกับสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดทำเมนูอาหารที่สอดคล้องกับเนื้อปลาในเมนูยอดนิยมของคนไทยทั้ง พะแนง แกงเขียวหวาน สะเต๊ะ ต้มยำน้ำข้น ผัดพริกไทยดำ ต้มซีอิ๊วญี่ปุ่น ต้มข่า กระเพาะ ปลา และข้าวหมกปลา

สองพี่น้องยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ขวัญชนก กับ เชษฐกานต์ เหล่าสุนทร เจ้าของแมคนีน่าฟาร์ม จ.เชียงราย เป็นอีกรายที่พลิกวิกฤติเป็นโอกาส นำข้าวออร์แกนิกมาตรฐานยูเอสดีเอมาผสมผสานกับพืชสมุนไพร แปรรูปขายเป็นข้าวหุงเป็นยา ทั้งเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวานและเพิ่มส่วนผสมสมุนไพรต้านโควิด

รวมถึงอีกหลายกลุ่มที่กล้าคิดนอกกรอบ อย่างกิมจิหอมแดง-กบแปรรูป ของกลุ่มเกษตรกรใน จ.ศรีสะเกษ, การแปรรูปผักตบชวาเป็นสินค้าแฟชั่นของชาวบ้าน จ.ปทุมธานี

ไม้ประดับเป็นอีกตัวหนึ่งที่ยามผู้คนว่างอยู่กับบ้านมักใช้เวลาไปกับกิจกรรมเหล่านี้ อย่างแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ บ้านแก่งไฮ ต.หนองบัว อ.ภูเรือ จ.เลย ปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตและจำหน่าย หันมาผลิตไม้ใบสวย ไม้ประดับ และไม้มงคล ขายผ่านเฟซบุ๊ก 3 เพจ ได้แก่ เพจ “สวนต้นไม้มงคล ต้นไม้ดอกไม้ประดับ ต้นไม้จิ๋ว ต้นไม้ฟอกอากาศ BY nmco, เพจ “ไร่ภูซำเตย สวนปูไม้ดอกไม้ประดับ” และเพจ “จำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับไม้มงคล ไร่ภูซำเตย”

ขณะที่ กชสร เนียมเนตร์ เกษตรกรหญิงเจ้าของสวนเนียมเนตร์ไม้ด่าง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี ก็ใช้พื้นที่แค่ 1 งาน อาศัยกระแสไม้ด่าง ทำเงินไปไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท สวนกระแสกับคนอื่น ส่วน EXOTIC PET หรือสัตว์เลี้ยงแปลก ก็ได้รับความสนใจ ติวเตอร์หนุ่มอย่าง ณัฐพงศ์ ภควิญญู เลยใช้เวลาว่างเพาะเลี้ยงทั้งเต่า งู อีกัวนา สร้างรายได้

นอกจากนั้น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ออกโมเดลการปลูกผักที่ทำให้มีกินได้ตลอด ซึ่งประสบความสำเร็จใช้ได้จริง เริ่มจากปลูกผักที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ไว ในช่วง 3 วันแรก อาทิ ถั่วงอก ถัดมาเป็นทานตะวันอ่อน ผักบุ้งอ่อน ที่เก็บเกี่ยวได้ตอนอายุ 7-10 วัน ที่มีคุณค่าทางอาหารสูง แต่หากขายก็ได้ราคาแพงถึง กก.ละ 200-250 บาท ถ้าต้องการบริโภคต้นแก่ก็ปล่อยไว้ 14-24 วัน ส่วนผักที่เก็บกินในช่วง 30-45 วัน จะเป็นกลุ่มผักกินใบอย่างคะน้า กวางตุ้งฮ่องเต้ กรีนโอ๊ก และผักที่มีอายุให้บริโภคได้ในช่วง 45-60 วัน จะเป็นกลุ่มพริก แตงกวา มะเขือเปราะ ต่อมาคือมะเขือเทศใช้เวลาปลูก 70-90 วัน หรือจะเลือกปลูกดอกชมจันทร์ ที่ช่วยในเรื่องการขับถ่าย หรือข้าวโพดหวานที่ใช้เวลา 90 วันเท่ากัน แค่วางแผนผลิตให้ดี ก็มีผักให้เก็บกินทุกวัน ทำให้หลายคนนำไปใช้ทั้งปลูกไว้กินเอง และขายในเชิงพาณิชย์.

...

ทีมข่าวเกษตร