เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและฟื้นฟูหลังน้ำลด ให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนให้ปลูกพืชผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวระยะสั้น สำหรับบริโภคและจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 จังหวัดอุบลราชธานี (สศท.11) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และสำรวจต้นทุนการผลิตพืชผักของเกษตรกร ในพื้นที่ อ.เมือง, วารินชำราบ และม่วงสามสิบ พบว่า พืชผักมีอายุเก็บเกี่ยวระยะสั้นประมาณ 45-60 วัน สร้างรายได้ดีและมีตลาดรองรับแน่นอน

และเมื่อจำแนกพืชผักที่น่าสนใจ สามารถปลูกหลังน้ำลดและสร้างรายได้ให้เกษตรกร พบว่า กลุ่มพืชผักที่สามารถปลูกได้หลายรอบการผลิตใน 1 ปี อย่าง หัวไชเท้า ปลูกได้ 3-4 รอบ/ปี มีต้นทุน 12,968.53 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 4,640 กก./ไร่/รอบการผลิต ได้ผลตอบแทน 46,400 บาท/ไร่/รอบการผลิต หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ได้กำไร 33,431.47 บาท/ไร่/รอบการผลิต

ขึ้นฉ่าย ปลูกได้ 4-5 รอบ/ปี มีต้นทุน 12,129.27 บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้ผลผลิต 1,080 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ได้ผลตอบแทน 45,900 บาท/ไร่/รอบการผลิต ได้กำไร 33,770.73 บาท/ไร่/รอบการผลิต

สำหรับกลุ่มพืชผักที่เกษตรกรนิยมปลูก 1 รอบการผลิต สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณ 5-6 เดือน...พริกหัวเรือ หักต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้วได้กำไร 59,298.81 บาท/ไร่/รอบการผลิต...ผักชีฝรั่ง ได้กำไร 15,156.67 บาท/ไร่/รอบการผลิต...แมงลัก ได้กำไร 11,243.59 บาท/ไร่/รอบการผลิต...โหระพา ได้กำไร 10,842.38 บาท/ไร่/รอบการผลิต.

สะ–เล–เต