โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู “อดีตตำรวจพัวพันยาเสพติดถูกไล่ออกจากราชการ” เกิดความเครียดควงมีดพร้า-อาวุธปืนลงมือสังหารผู้บริสุทธิ์ 36 ศพ กลายเป็นเหตุซ้ำรอย “จ่าทหารคลั่งโคราช” อ้างถูกโกงซื้อขายที่ดินจนใช้อาวุธสงครามไล่กราดยิงชาวบ้านเสียชีวิต 30 ศพ และบาดเจ็บอีก 58 ราย
กลายเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่เกิดจาก “ผู้ก่อเหตุใกล้ชิดอาวุธร้ายแรง” ทำให้ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องถอดบทเรียนป้องกันเหตุซ้ำรอยด้วย “ม.รังสิต” จัดเสวนาหัวข้อเหตุกราดยิง : อีกกี่บทเรียนที่ต้องถอด? ในวงเสวนา รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผช.อธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต บอกว่า
เส้นทางพลเรือนก้าวสู่ฆาตกรสังหารหมู่นี้เริ่มจากสอบผ่านคัดเลือกเข้าในโรงเรียนตำรวจ เพื่อฝึกอบรมยุทธวิธี ความรู้กฎหมายและการใช้อาวุธ แล้วเมื่อจบก็ต้องออกไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ทำให้ต้องเผชิญความกดดันทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีอยู่มากมาย ทำให้หวนกลับไปพัวพันยาเสพติดถูกดำเนินคดีไล่ออกจากราชการ
...
ทว่าในเรื่องยาเสพติด “ประเทศไทย” มีปัญหาเป็นอันดับ 1 มายาวนาน ตามข้อมูล ป.ป.ส.ปี 2561-2564 มีการจับกุม 1.41 ล้านคดี ผู้ต้องหา 1.47 ล้านคน แล้วกระบวนการดำเนินการเกี่ยวกับความผิดฐานฟอกเงินน้อย
ถัดมาคือ “การครอบครองอาวุธปืน” ตามข้อมูลในปี 2560 ประเทศไทยออกใบอนุญาตให้บุคคลทั่วไปครอบครองอาวุธปืน 10 ล้านกระบอก ถูกจัดอับดับประเทศครอบครองปืนสูงสุดในอาเซียน และอันดับ 13 ของโลก หรือเฉลี่ย 15.1 กระบอกต่อ 100 คน แล้วเชื่อว่าผ่านมา 5 ปีนี้ตัวเลขการครอบครองปืนน่าจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
เช่น กองทัพมีอาวุธปืนอยู่ 1 ล้านกระบอก ตำรวจ 2.3 แสนกระบอก สิ่งที่น่าสนใจคือ “ปืนถูกใช้ก่อคดี 3.1 หมื่นครั้ง” มีการเสียชีวิตด้วยปืนเป็นอันดับ 11 ของโลก ทั้งยังใช้ก่อเหตุฆ่าตัวตายมากเป็นอันดับ 3
สังเกตจาก “โครงการ Depress We Care (ซึมเศร้าเราใส่ใจ)” ให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตแก่ตำรวจในปี 2561-2564 ผู้เข้ารับบริการ 4 พันกว่านาย เป็นตัวเลขน้อยมากเมื่อเทียบจำนวนตำรวจทั่วประเทศ 2 แสนกว่านาย
ทำให้มีสถิติตำรวจไทยฆ่าตัวตายเฉลี่ย 17.2 รายต่อประชากรแสน จากปัญหาครอบครัว ถูกพักงาน หรือพิษสุราเรื้อรัง นับเป็นตัวเลขสูงกว่าคนไทยทั่วไปฆ่าตัวตาย 2 เท่า สะท้อนถึงอาชีพตำรวจนั้น “มีความกดดันเครียดสูง” จากความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้ดูแลทุกข์สุขของประชาชนนั้น
หากย้อนดู “การใช้ดุลพินิจในการบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ” สิ่งที่อยากเน้น “เรื่องคุณธรรม จริยธรรมในวิชาชีพตำรวจ” กล่าวคือตำรวจจะบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพได้นั้นต้องมีคุณธรรม จริยธรรมในวิชาชีพ แต่ที่ผ่านมาเรื่องนี้ปลูกฝังน้อยมาก ทำให้ไม่มีสิ่งเหนี่ยวรั้งต่อการก่อเหตุร้ายต่อสังคม หรือประชาชนหรือไม่
อยากสรุปอย่างนี้ว่า “เหตุสังหารหมู่หนองบัวลำภู” เกิดจากทั้งตัวผู้ก่อเหตุ องค์กร ระบบข้าราชการ และสังคมไทย เมื่อเกิดเหตุแล้วมักหยิบยกมาพูดกัน “แต่ไม่เคยถอดบทเรียน” จนนำมาสู่เหตุการณ์ต่อไป
เช่นเดียวกับ พล.ต.ท.ดร.มณฑล เงินวัฒนะ ประธานมูลนิธิตำรวจไทย-นานาชาติ มองว่าเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้นใน จ.หนองบัวลำภู สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนแอ 3 เรื่อง กล่าวคือ เรื่องแรก...“การควบคุมอาวุธปืน” ด้วยในประเทศไทยมีผู้ครอบครองอาวุธปืน 10 ล้านกระบอก และในจำนวนนี้อยู่ในมือบุคคลใครบ้างก็ไม่รู้...?
...
แล้วเคยมีคนพูดกันว่า “อาวุธปืนใช้ป้องกันอริราชศัตรูยามมีศึกสงครามรักษาเอกราช” แล้วที่ผ่านมามีการนำอาวุธปืน 10 ล้านกระบอกออกไปใช้สู้รบกับศัตรูแทบไม่มี “ส่วนใหญ่คนไทยนำมาใช้ยิงกันเองแทบทั้งสิ้น” อย่างเช่นกรณี เหตุวัยรุ่นกราดยิงกันกลางเมืองอุบลราชธานี อันเป็นเรื่องที่น่ากลัวค่อนข้างมาก
ฉะนั้นทางออกคือ “นำอาวุธปืนออกจากสังคมไทย” เหมือนประเทศญี่ปุ่นออกนโยบายห้ามคนทั่วไปครอบครองปืนเด็ดขาด “อนุญาตใช้เฉพาะการกีฬา” ในช่วงแรกๆ “รัฐบาล” รับซื้อคืนจากผู้ครอบครองถ้าไม่ขายก็ห้ามโอน “เมื่อตายปืนต้องตกเป็นของแผ่นดิน” แต่อาจต้องสู้กับธุรกิจอาวุธปืนที่มีผลประโยชน์มหาศาล
ถัดมาเรื่องที่สอง... “การควบคุมยาเสพติด” ด้วยอาชีพตำรวจค่อนข้างมีภูมิคุ้มกันเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อย เพราะรายได้ผลตอบรับน้อยบวกกับความกดดันจากการทำงานจนเกิดความเครียดสะสม กลายเป็นความเสี่ยงต่อการใช้ยาเสพติดที่ทำการตรวจยึดมาได้ระบายเครียดนั้น แถมมีโอกาสกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายเกิดขึ้นก็ได้
...
สุดท้ายเรื่องที่สาม... “ระบบควบคุมภายในองค์กร” เชื่อว่าผู้บังคับบัญชาแต่ละโรงพักมักรู้ดีว่า “ผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดมีปัญหาต่อการทำงาน” แต่มักปล่อยผ่านกว่าดำเนินการขั้นเด็ดขาดก็หลายปี ดังนั้นจำเป็นต้องถอดบทเรียนเหตุการณ์ใน จ.หนองบัวลำภู ที่สะท้อนให้เห็นจุดอ่อนแอหลายด้านนั้น
ศ.ดร.นิรนาท แสนสา เลขานุการสมาคมจิตวิทยาการปรึกษาแห่งประเทศไทย บอกว่า เหตุการณ์สังหารหมู่ในไทยเกิดขึ้นหลายครั้งล้วนเกิดจาก “ตัวบุคคล” ที่มีความละเอียดซับซ้อนในกระบวนการคิดอย่างเช่น “อดีตตำรวจคลั่ง” จากคนธรรมดากลายเป็นนักสังหารได้มีกระบวนการเหตุผลเกิดขึ้นในใจค่อยเป็นค่อยไปมากมาย
ถ้ารู้ตัวระบายออกอย่างเหมาะสมมักไม่เกิดปัญหาใด “แต่บางคนไม่เคยถูกชวนย้อนดูความรู้สึกภายใน” ตามหลักจิตวิทยาที่เรียกว่า “ไม่รู้จักและไม่เท่าทันตัวเอง” มักแสดงอารมณ์ทันทีที่มีสิ่งกระตุ้น เช่น “อารมณ์กระตุ้นอยากลองอยากรู้” ที่เกิดในหมู่วัยรุ่นนำไปสู่การเสพยาเพิ่มปริมาณเมื่อไม่มีเงินซื้อก็กลายเป็นผู้ค้ายาแทน
...
ดังนั้นวงการค้ายาเสพติดไม่มีวันปราบปรามให้หมด ตราบใดที่สิ่งนี้ยังสามารถทำเงินได้แล้วยิ่งกว่านั้นจะมีผู้ตกเป็นเหยื่อรายใหม่ทุกวัน ผลตามมายาเสพติดจะทำลายสมองผู้เสพส่งผลต่อความรู้สึกอดทนอดกลั้นน้อยกว่าปกติ กลายเป็นเสมือนระเบิดเวลาในการก่อเหตุทำร้ายบุพการี หรือคนอื่นมีให้เห็นเป็นระยะในสังคมไทย
อย่างเช่น “กรณีอดีตตำรวจคลั่งสังหารหมู่” ก็มีพฤติกรรมเสพยาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม จนมาถูกจับดำเนินคดีนับเป็นเวลานานหลายสิบปี “สารเสพติดย่อมเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมอง” ทำให้ความอดทนอดกลั้นในการยับยั้งชั่งใจ กระบวนการทางความคิด หรือพฤติกรรมการระงับความรู้สึกมีน้อยกว่าคนปกติ
ยิ่งบวกกับ “ครอบครัวแตกแยก และสถานที่ทำงานก็เจอแต่ความกดดัน ความเครียดสะสม” เป็นเหมือนมรสุมปัญหาเข้ามาปะทะพร้อมกัน เมื่อไม่มีวิธีระบายความรู้สึกผ่อนหนักเป็นเบาได้ กลายเป็นจุดชนวนระเบิดอารมณ์ออกนั้น “แม้ผลตรวจร่างกายไม่พบสารเสพติด” แต่พฤติการณ์ก็ยังมีความเชื่อมโยงกันอยู่เช่นเดิม
ด้วยผู้เสพแอมเฟตามีนมักสูบควันเข้าปอดกระจายสู่โลหิตขึ้นสมองออกฤทธิ์ได้เร็วใน 10 วินาที ทำให้มีอาการสนุกสนานเมื่อยาหมดฤทธิ์ก็ต้องเสพยาเพิ่มเข้าไปเรื่อยๆ ข้ามวันข้ามคืน ขณะที่ร่างกายต้องการพักผ่อนนอนกลับถูกกระตุ้นปลุกอยู่ตลอดจนทำลายสมอง แล้วกรณีการเลิกยาได้ก็ไม่มีอยู่จริงเป็นเพียงยืดเวลาการเสพซ้ำเท่านั้น
และมีคำถามว่า “คนเสพยามีผลต่อการฆ่าคนอื่นอย่างไร?” เรื่องนี้เกิดจากหลายปัจจัยทั้งความกดดันคับแค้นใจสะสมโดยไม่เคยถูกบริหารจัดการที่ดี “บวกกับเสพยามานาน” ส่งผลกระทบให้ความอดทนต่อความยากลำบากของชีวิตต่ำกว่าคนปกติ ดังนั้นการเสพยาย่อมมีความสัมพันธ์ต่อปฏิกิริยาการก่อเหตุกับคนอื่นได้ด้วย
สิ่งนี้เป็นเรื่องใหญ่คนไทยต้องร่วมถอดบทเรียนวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบาคลายความเครียดในใจด้วย เพราะทุกคนมีโอกาสสังหารหมู่คนอื่นได้เสมอ โดยเฉพาะวาจาคำพูดที่เกิดขึ้นทั้งในครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน แล้วเชื่อว่า “วัฒนธรรมองค์กรตำรวจ” น่าจะใช้ประโยควาจารุนแรงจนคุ้นชิน และคิดว่าอีกฝ่ายไม่รู้สึกกับคำพูดนั้น
ถ้าใครรู้สึกก็ปล่อยให้หาทางคลี่คลายเอง ดังนั้นทำให้ตำรวจมักใช้อาวุธปืนก่อความรุนแรงปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดนี้ แตกต่างจากพลเรือนไม่มีอาวุธมักทะเลาะเบาะแว้งกันด้วยวาจาแทน
ตอกย้ำสังคมต้องเฝ้าระวังคือ “พฤติกรรมความกดดันจนคับแค้นจิตใจ” แม้มีช่องทางพื้นที่ให้คำปรึกษาระบายความรู้สึกอย่างเหมาะสม เช่น “สายด่วน 1323” แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายแค่เฉพาะสถานศึกษายังไม่มีนักจิตวิทยาด้วยซ้ำ ดังนั้นการจะมีนักจิตวิทยาเฉพาะทางเข้าไปดูแลตำรวจทุกโรงพักคงทำได้ยาก
สุดท้ายฝากไว้ “โศกนาฏกรรมสังหารหมู่” ไม่มีใครคาดเดาล่วงหน้าได้ว่า “เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นซ้ำอีกเมื่อใด” แต่วิธีดีที่สุดคือ “ถอดบทเรียนสิ่งที่เกิดขึ้น” แล้วนำไปสู่การป้องกันเหตุร้ายในอนาคต.