ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเด็กเล็ก ครู ผู้ปกครอง ที่ได้รับความสูญเสียจากคนร้าย เป็น อดีตตำรวจที่ถูกไล่ออกจากราชการเพราะไปพัวพันกับยาเสพติด เหตุการณ์เกิดขึ้นหลายกรรมหลายวาระ ที่เศร้าสลดที่สุดก็คือ บริเวณ ศูนย์เด็กเล็กตำบลอุทัยสวรรค์ อบต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัว ลำภู ซึ่งมีการระบุเอาไว้ด้วยว่า จ.หนองบัวลำภู เป็นจังหวัดที่มีประชากรยากจน แต่ก็เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญมากจังหวัดหนึ่ง

สาเหตุหลักของเรื่องนี้ ประกอบด้วย ความหละหลวมในการป้องกันเหตุร้ายของเจ้าหน้าที่ ยาเสพติด และอาวุธปืน หน่วยงานที่รับผิดชอบก็คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มี พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ เป็น ผบ.ตร. ต่อมาก็เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะประธาน ก.ตร. โดยเฉพาะผู้กระทำความผิดเป็นอดีตตำรวจ ทำให้กระแสสังคมโฟกัสไปอยู่ที่คนมีสี เนื่องจากได้รับอภิสิทธิ์ ในการใช้อาวุธปืนมากกว่าคนปกติทั่วไป และมีการก่อเหตุร้ายทำนองนี้ขึ้นหลายครั้ง ทั้งทหารและตำรวจ ก็เผอิญว่า รัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศในขณะนี้ ส่วนใหญ่มาจาก ทหารและตำรวจ ตำแหน่งในรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ในฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ส่วนใหญ่ก็เป็นทหารและตำรวจ จนไม่สามารถจะพิเคราะห์ได้ว่า เป็นรัฐทหาร หรือรัฐตำรวจดี

ถ้าไม่มีกรณีนี้เกิดขึ้นก็ไม่รู้ว่า กระบวนการเส้นทางการเข้ารับราชการ เส้นทางกระบวนการยาเสพติดเป็นอย่างไร ถ้าไม่เกิดกรณีน้องชมพู่ ลุงพล กรณีคดีแตงโม ก็ไม่เข้าใจว่ากระบวนการยุติธรรมของประเทศเป็นอย่างไร

เช่นเดียวกับ ถ้าไม่ใกล้จะถึงวันเลือกตั้ง ก็ไม่รู้ว่าพฤติกรรมของ นักการเมืองมืออาชีพ เป็นอย่างไร ระยะห่างและระยะใกล้ชิดกับประชาชนก็จะเป็นไปตามกรอบเวลาและกลไกของการเลือกตั้ง จุดหมายปลายทางและอุดมคติการทำงานทางการเมืองระหว่างผลประโยชน์และอำนาจ ระหว่างส่วนตัวและส่วนรวม จะเห็นได้ชัดก็ตอนนี้

...

มีเรื่องราวที่ต้องยกมาเป็นกรณีศึกษา เนื่องจากมีคำพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด คดีระหว่าง ผู้ฟ้องกับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีมีอยู่ว่า ผู้ฟ้องได้สมัครสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ ปี 2549-2550 แต่สอบไม่ผ่านภาคความเหมาะสม เนื่องจากอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติเห็นว่าผู้ฟ้องประพฤติเสื่อมเสียและเคยถูกดำเนินดีในความผิด พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษกำหนดโทษ 1 ปี คุมประพฤติ 1 ปี รายงานตัวทุก 4 เดือน

โดยผู้ฟ้องอ้างว่า มติคณะอนุกรรมการไม่เป็นธรรมขัดกับหนังสือกองทะเบียนประวัติอาชญากร ที่เสนอให้แก้ระเบียบการรับเด็กหรือเยาวชนที่เคยกระทำความผิดมีโอกาสเข้าทำงานหรือรับราชการได้

เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้อง ขณะนั้นเป็นเยาวชนกระทำผิดครั้งแรก เห็นสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี เมื่อดูจากดุลพินิจของศาลแล้ว จึงควรให้โอกาสผู้ฟ้องคดีมีสิทธิสอบเข้าแข่งขันคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

เรื่องนี้ต้องทบทวนให้ดีและนำไปเป็นกรณีศึกษาของสังคมและกระบวนการยุติธรรมต่อไป เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องการสร้างภาพ หรือหาคะแนนนิยม แต่เป็นเรื่องการสูญเสียของกระบวนการทางสังคมและดุลพินิจของผู้นำด้วย.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th